X

Tercio ขบวนรบสเปนสุดไร้เทียมทาน

สเปนถือเป็นชาติหนึ่งที่เคยเป็นอภิมหาอำนาจของยุโรปหรือโลกเลยก็ว่าได้ สเปนเป็นชาติแรกๆที่สามารถสร้างจักรวรรดิโพ้นทะเลจนได้ สมญานามว่า “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ก่อนจักรวรรดิอังกฤษ สเปนมีกองเรือ “อาร์มาดา” อันแข็งแกร่งและเท่านั้นยังไม่พอสเปนยังมีกองทัพที่เรียกได้ว่าแข็งแกร่งสุดในยุโรปช่วงหนึ่ง ก่อนหน้านี้ชาวสเปน (ซึ่งประกอบด้วยหลายอาณาจักรรวมตัวกันเช่น อารากอน , คาสตีล) ได้ทำสงครามเพื่อขับไล่ชาวมุสลิม ออกจากแผ่นดินและสามารถทำลายรัฐสุลต่านแห่งเกรนาดา ใน ค.ศ.1492 (ปีเดียวกับที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินทางไปอเมริกา) สงครามกับมุสลิมอันดุเดือดหลายร้อยปีส่งผลให้ กองทัพทั้งหลายในสเปนต่างโชกโชนไปด้วยประสบการณ์ แต่ในด้านกองทัพนั้นยังไม่มีการจัดระบบที่มีประสิทธิภาพชัดเจน กองทัพของอาณาจักรในสเปนตอนนั้นยังค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างยุคกลางกับยุคใหม่ เริ่มมีการใช้อาวุธดินปืนบ้างเช่นปืนคาบชุด (arquebusiers) ซึ่งสามารถยิงอัศวินใส่เกราะหนักเต็มตัวให้ร่วงจากหลังม้าได้ง่ายๆ และอีกอาวุธที่สำคัญเลยนั้นคือ ไพค์ และง้าว (Pike and Halberd) ซึ่งเป็นอาวุธยาวหากทหารราบจัดขบวนเป็นระเบียบและฝึกมาอย่างดี อาวุธยาวเหล่านี้ก็สามารถกันทหารม้าได้ ยกตัวอย่างเหล่าทหารสวิส ที่สามารถรบชนะกองทัพอัศวินของยุคกลางได้เพราะขบวนไพค์

พลปืนคาบชุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16

ที่มา – https://www.prints-online.com/p/164/french-arquebusier-c17th-4341891.jpg.webp

 

 

ขบวนรบไพค์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16

ที่มา – http://ryukyu-bugei.com/wp-content/uploads/2015/03/mili-117-01-2.jpg

 

และก็เป็นชาวสเปนนี้เองที่ริเริ่มนำอาวุธทั้ง 2 ประเภทมารวมกันเป็นขบวนรบสุดไร้เทียมทานแห่งยุคที่เรียกว่า เทรคีโอ (Tercio) โดย กอนซาโล เฟร์นันเดซ เดอ(หรือ แห่ง) กอร์โดบา  (Gonzalo Fernández de Córdoba) ผบ.กองทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งสเปนได้ริเริ่ม นำปืนคาบชุดมาใช้ร่วมกับอาวุธยาว โดยใช้อาวุธยาวเป็นตัวป้องกันการรุกของข้าศึกและใช้อาวุธปืนในการยิงตัดรอนกำลังรบข้าศึกขบวนรบ ขบวนรบนี้ได้สำแดงฤทธิ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่พาเวีย (Battle of Pavia) ค.ศ.1525 เมื่อกองทัพอัศวินหุ้มเกราะฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ขบวนทหารราบไพค์และพลปืนของสเปนอย่างยับเยิน ทำให้กองทัพฝรั่งเศสเกินครึ่งเสียชีวิตรวมถึงกษัตริย์ฝรั่งเศสในเวลานั้น ก็ถูกจับเป็นเชลย

 

การยุทธที่พาเวีย เมื่อทหารราบสเปนปะทะกับอัศวินหุ้มเกราะฝรั่งเศส

ที่มา – https://ironmikemag.com/wp-content/uploads/2019/03/ef8fd7e13713afbdb442bda8f5 749ddc.jpg

 

จนกระทั่ง ค.ศ.1536 ได้มีการออกฎีกาออกมาอย่างเป็นทางการว่าด้วยการตั้งขบวนรบที่ชื่อ เทรคีโอ โดย เทรคีโอ จะแบ่งได้เป็น 2 ยุคคือ เทรคีโอ ยุคเก่ากับยุคใหม่ โดยผมขอพูดถึงยุคเก่าก่อน มันจะเป็นขบวนรบที่ทหารราวๆ 1,500 – 3,000 นาย โดยอาจจะแบ่งเป็นหลายกองร้อย กองร้อยละ 250 นาย ซึ่งคละกันทั้ง พลปืนคาบชุด และ พลไพค์ โดย พลไพค์ จะอยู่ตรงกลาง เทรคีโอ อาจจะขบวนลึกราวๆ 10 แถวขึ้นไป เพื่อให้สามารถยันการโจมตีหนักได้ ส่วนพลปืนจะอยู่บริเวณปีกของขบวนจะคอยยิงสนับสนุน ปืนคาบชุดของสเปนนั้นยิงไกลได้มากสุด 300 หลา แต่มันค่อนข้างมีน้ำหนักมากและเทอะทะพอสมควร และยังยิงไม่ค่อยแม่นยำเท่าไหร่ การรีโหลดนั้นก็เรียกว่าช้ามาก ดังนั้นพลปืนถูกฝึกให้ยิงตามคำสั่งหรือยิงพร้อมกันทีละมากๆเพื่อเพิ่มอำนาจการยิง โดยพลปืนอาจจะยืนเป็นแถวลึก 6 แถว ขึ้นไป เมื่อแถวหน้ายิงเสร็จจะเดินถอยไปแถวหลังสุดให้แถวที่อยู่ด้านหน้าได้ยิงต่อวนไปเรื่อยๆ

 

ขบวนรบ เทรคีโอแบบมาตรฐาน ซึ่งมีพลไพค์อยู่ตรงกลาง และพลปืนอยู่ตรงปีก และตรงมุมขบวน

ที่มา – https://miro.medium.com/max/600/1*kjjGxrKq5HzwT7RHN78o-g.jpeg

 

 

เทรคีโอ หลายๆ เทรคีโอ เคลื่อนพลพวกเขาจะเคลื่อนพลเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ๆหลายกล่องสลับฟันปลาไปมาเพื่อให้แต่ละขบวนรบสามารถสนับสนุนกันได้

ที่มา – https://miro.medium.com/max/875/1*UFMRJEeGJLH766AvaPFafQ.jpeg

 

และเมื่อข้าศึกใกล้ประชิดก็จะไปหลบหลังขบวนไพค์ ในช่วงแรกนั้นสเปนตั้ง เทรคีโอ แบบเก่านั้น คือกองทหารประจำการที่ถูกตั้งขึ้นตามภูมิภาค โดยชื่อของเทรคีโอมักตั้งตามชื่อ ผบ.ของ เทรคีโอ ที่เรียกว่า “maestres de campo” ซึ่งมีหน้าที่เกณฑ์กำลังพลและฝึกพวกเขาให้พร้อมรบ แต่พอสงครามกับชาติอื่นเริ่มยืดเยื้อ สเปนเลยตั้ง เทรคีโอใหม่ ขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารที่เกณฑ์มาจากในสเปน และคนเป็นผู้นำคือชนชั้นสูงสเปนในท้องที่ เสมือนเป็นกองกำลังทหารชาวบ้าน ที่ถูกเรียกมาเป็นกองหนุนให้ เทรคีโอเก่า พวกนี้ประสบการณ์และระเบียบวินัยเทียบกับ เทรคีโอเก่า ไม่ได้ ด้วยการผสมผสานระหว่างอำนาจการยิงและอาวุธประชิดนี้เอง (ในเวลาต่อมาการรบแบบนี้จะเรียกว่า Pike & Shot) ทำให้หลายชาติยุโรปเริ่มทำตาม และนำไปดัดแปลงตามแบบของตน มาถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาติมหาอำนาจใหม่เช่น ดัตซ์ , สวีเดน หรือ ฝรั่งเศส ได้จัดขบวนรบใหม่ที่เริ่มเล็กลงแต่ยืดหยุ่นกว่า เทรคีโอ นอกจากนี้อาวุธปืนที่เริ่มทันสมัยและยิงแม่นขึ้น ทำให้การเพิ่มอัตราส่วนของปืนมากขึ้น

 

 

ขบวนรบกองพลน้อยของสวีเดนที่รับเอา Pike & Shot ของ เทรคีโอ มา แต่ปรับขบวนให้เล็กลงเพื่อความคล่องตัว

ที่มา – https://i.pinimg.com/736x/95/28/a1/9528a1811c8927c5419e25bc6dfa6e57.jpg

 

ใน ค.ศ.1636 กองทัพแห่งฟลานเดอร์ส ของสเปนประกอบด้วย พลปืนมากถึง 2 ใน 3 ของกองทัพ ขบวนรบเทรคีโอที่มีขนาดมากถึง 2,000 – 3,000 นาย ปรับลดลงเหลือ 1,000 – 1,500 นาย เท่านั้นเพื่อความยืดหยุ่นที่มากกว่าเดิม กองทัพสเปนเริ่มพ่ายแพ้ในหลายศึกช่วงสงคราม 30 ปี (ค.ศ.1618 – 1648) ที่สำคัญเลยคือการยุทธที่ โรควัวซ์ (Battle of Rocroi) ค.ศ.1643 เมื่อกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดของสเปนอย่าง กองทัพแห่งฟลานเดอร์ พ่ายแพ้ต่อกองทัพฝรั่งเศสอย่างยับเยิน เนื่องด้วยทหารม้าสเปนโดนทหารม้าฝรั่งเศสขับไล่จนหมด ทำให้เทรคีโอโดนล้อมกรอบ และระดมยิงจากทุกด้านจนยอมจำนน!!! สเปนเสียทหารไปเกือบ 10,000 นายจาก 27,000 ส่วนฝรั่งเศสเสียไปราวๆ 4,000 นายจาก 23,000 นาย ความพ่ายแพ้นี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งของเทรคีโอถูกทำลาย!!! ถึงแม้ในความจริงขบวนรบเทรคีโอจะสามารถยันการโจมตีฝรั่งเศสได้นานมากทีเดียว

 

ความพ่ายแพ้ที่ โรควัวซ์ ทำให้ชื่อเสียงความไร้พ่ายของ เทรคีโอ ถูกทำลายลง

ที่มา – https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d3/Rocroi%2C_el_%C3% BAltimo_tercio%2C_por_Augusto_Ferrer-Dalmau.jpg

 

 

ทั้งนี้อาวุธชนิดใหม่เริ่มถูกพัฒนา ทำให้ขบวนรบที่เทอะทะของเทรคีโอปรับตัวตามเช่น ไพค์ เริ่มถูกแทนที่ด้วยดาบปลายปืนซึ่งทำให้พลปืนสามารถสู้ระยะประชิดได้ ปืนคาบศิลา ที่เบากว่าและสามารถยิงได้เร็วกว่ามาแทนที่ปืนคาบชุด รวมถึงปืนใหญ่สนามเบาเคลื่อนที่เร็วที่นำมายิงสนับสนุนทหารราบได้อย่างใกล้ชิด ทำให้ขบวนรบใหญ่และเทอะทะเป็นเบาได้ง่ายๆ ท้ายสุดใน ค.ศ.1704 สเปนตัดสินใจเปลี่ยนเทรคีโอเป็น “กรม” ตามแบบยุโรปตะวันตกทั่วไป โดยใช้ทหารราบในแถวซึ่งถือปืนคาบศิลาเป็นอาวุธหลักแทน เป็นการอวสานขบวนรบ เทรคีโอ 1 ในขบวนรบที่แข็งแกร่งสุดในยุโรปซึ่งครอบครองสมรภูมิมาเกือบ 150 ปี

 

ทหารสเปนยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ปืนคาบศิลาและการจัดกำลังแบบ “กรม” แทน เทรคีโอ
ที่มา – https://i.pinimg.com/736x/8a/28/82/8a28828043d1a7e5f69737795800c280–modern-warfare-succession.jpg