X

Winged Hussar ทหารม้าติดปีกแห่งโปแลนด์

ในช่วงยุคกลางกองกำลังที่น่าเกรงขามของชาวยุโรปนั้นคือ อัศวิน ทหารม้าหุ้มเกราะหนัก ซึ่งทำหน้าที่ชาร์จทะลวงฟันข้าศึกจนแตกพ่าย อัศวินของยุโรป ถือเป็นชนชั้นหนึ่งที่ได้รับการเคารพนับถือ และน่ายำเกรง จนกระทั่งการมาของอาวุธดินปืนเริ่มทำให้อัศวินสูญพันธุ์จากนักรบบนหลังม้ากลายมาเป็น ผบ.กองทหาร แทน อัศวินยังคงอยู่ในรูปแบบของตำแหน่งศักดินาหรือยศ แต่อัศวินที่รบบนหลังม้านั้นเรียกได้ว่าเริ่มเลือนหายไปตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ยกเว้นที่เดียว ที่นั้นคือ “โปแลนด์” ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า เป็นการผสมผสานระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก แนวคิดเก่าและแนวคิดใหม่ โปแลนด์ยังคงมีกองทหารม้าหุ้มเกราะหนักถือทวน ทั้งๆที่หลายชาติในยุโรปตอนนั้น เริ่มไม่ให้ความสำคัญกับมัน พวกเขาคือชนชั้นนักรบที่เรียกกันว่าเหล่า วิหค ฮุสซาร์ หรือ Winged Hussar

 

ที่มา – https://ironthronerp.fandom.com/wiki/Brotherhood_of_the_Winged_Knights

 

 

 

ผมจะขอเกริ่นที่มาของคำว่าฮุสซาร์ ซึ่งมันเป็นคำที่ค่อนข้างจะคลุมเครือไม่แน่ชัดว่ากำเนิดจากไหนบ้างว่ามาจาก จักรวรรดิโรมันตะวันออกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 หมายถึงกองทหารม้าเบา แต่ที่โด่งดังสุดคงจะเป็นจาก ฮังการีในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 15 คำว่า husz นั้นหมายถึง 20 เพราะทหารม้าฮุสซาร์จะถูกคัดเลือกมาจากชาวบ้าน 1 ใน 20 นาย ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน ซึ่งหน้าที่ก็ทำการรบแบบฉาบฉวย ลาดตระเวน แบบทหารม้าเบา บ้างก็ว่า หมายถึงทหารม้า เซอร์เบียที่เรียกว่า “Gusar” หมายถึง โจร ฮุสซาร์เริ่มแพร่เข้ามาในโปแลนด์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเป็น ฮุสซาร์เซอร์เบีย ในไม่ช้า สหพันธรัฐโปแลนด์ – ลิธัวเนีย ก็ว่าจ้างทหารม้าฮุสซาร์เป็นจำนวนมาก แต่ทหารม้าฮุสซาร์สไตล์ เซอร์เบีย นั้นก็ยังคงเป็น ฮุสซาร์แบบเบา ซึ่งในเวลาต่อมา โปล นั้นต้องต่อกรกับทหารม้าหนักของเติร์กอย่าง ซิปาฮิ (Sipahi) ทำให้โปลเริ่มติดเกราะให้กับฮุสซาร์ของตัวเอง จนกลายเป็น ฮุสซาร์หนัก ของตัวเองขึ้นมา..นานวันเข้า ฮุสซาร์ของโปลเริ่มได้รับอิทธิพลและสไตล์การรบแบบยุโรปตะวันตก ทำให้พวกเขาสวมเกราะหนักและทวนเหมือนอัศวิน

 

ฮุสซาร์ในยุคแรก

ที่มา – https://www.pinterest.es/pin/371547038002220701/

 

พวกฮุสซาร์โปแลนด์ก็เหมือนอัศวินยุโรปตรงที่เป็นชนชั้นสูง การจัดกำลังที่ย่อยสุดของบรรดาวิหคฮุสซาร์จะเป็นกองร้อยที่เรียกว่า “Rota” ซึ่งมาจากชนชั้นสูงโปล สำหรับผู้บังคับกองร้อยในแต่ละกองนั้นจะเรียกว่า “Rotmistrz” พวกเขาคือชนชั้นสูงชาวโปลที่ครอบครองที่ดินและมีบริวารอยู่บ้าง ซึ่งความรวยของพวกเขาทำให้ สภา Sejm หรือ รัฐบาลของโปแลนด์ ไม่ต้องลงแรงมากนักในการใช้เงินดูแลเหล่าทหารม้า นอกจากนี้บรรดานายพลหรือ “เฮทมาน (Hetman)” ของ โปล ก็จ่ายเงินให้เหล่า Rotmistrz เวลาจะรวบรวมพลเพื่อทำการรบ Rotmistrz จะส่งจดหมายเรียกเกณฑ์ทหาร (List Przypowiedni) ซึ่งจดหมายดังกล่าวถูกรับรองโดยกษัตริย์และ Rotmistrz นำมาใช้ต่อโดยการตั้ง กองร้อยทหารม้าที่มีจำนวนตั้งแต่ 100 – 150 นาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของ Rotmistrz รายนั้นๆถ้ารวยก็อาจจะมากถึง 300 นายก็ได้ บรรดาคนที่มาเข้านั้นจะเรียกว่า “towarzysze” หรือแปลว่า “สหาย (Companion)” ชื่อเรียกคล้ายๆกองทหารม้าของอเล็กซานเดอร์เลยทีเดียว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเด็กรับใช้หรือ “pacholiks” แบบอัศวินในยุคกลางเลยด้วย ซึ่งบางคนอาจจะมีมากถึงเจ็ดคน สำหรับ “towarzysze” นั้นก็ดูจะเป็น สหายของ ผู้กองสมชื่อจริงๆเพราะพวกเขาจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการดูแลกองทหารเช่นกัน

 

อาวุธที่พวกเขาใช้ Rotmistrz ก็เป็นคนจัดหามาให้ มีสำหรับสหายคนไหนที่ช่วยออกตังค์ช่วยแชร์กับผู้กองในการซื้ออาวุธ พวกเขาก็จะได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่ยึดได้ในสงครามมาเป็นค่าทดแทน คราวนี้เราจะมาพูดถึง อาวุธแต่ละชิ้นของ ฮุสซาร์ กันครับ

สำหรับชุดเกราะตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาของทหารม้าโปลนั้นจะลอกเลียนแบบ ชุดเกราะสไตล์ฮังกาเรียน ขึ้นมาซึ่งเกราะเหล็กเป็นปล้องๆคล้าย “ลอบสเตอร์’ และเกราะอกนั้นเป็นสไตล์แบบอิตาเลียน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก เกราะ ลอริกา แซกเมนทาทา แบบทหารโรมันในอดีต ต่อมาก็ดัดแปลงทำเป็นแผ่นๆประมาณ 3 – 4 แผ่น พอมาถึงช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 17 ชุดเกราะแบบเติร์ก ก็เป็นที่นิยมแทน หมวกเหล็ก ในช่วงแรกจะเป็นหมวกก็อปสไตล์ฮังการีมาเช่นกัน ก่อนค่อยๆปรับรูปแบบมาเป็นของตัวเองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีข้อต่อหมวกเป็นทองเหลือง และมีแผ่นเหล็กป้องกันจมูกที่เป็นรูปกุหลาบ สัญลักษณ์ของพระแม่มารีย์ เกราะแขนนั้นในตอนแรกจะเป็นเกราะโซ่ถักก่อนจะเปลี่ยนเป็นเกราะแบบตะวันออกซึ่งเป็นชิ้นๆ

แล้วก็มาถึงอาวุธหลักของบรรดาฮุสซาร์นั้นคือทวน ทวนชนิดนี้เป็นทวน สไตล์ตะวันออก มีที่ป้องกันมือเป็นรูปทรง กลมๆคล้าย แอปเปิ้ล ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “pomme” สำหรับตัวทวนนั้นจะทำมาจากไม้สนหรือเฟอร์ที่ราคาถูกและเบา และดาบจับของมันยังกลวงส่งผลทำให้น้ำหนักของทวนลดลงอีก ซึ่งทวนของทหารม้าฮุสซาร์นั้นยาวถึง 13 – 16 ฟุต!! หรือราวๆ 3.9 – 4.6 เมตร แต่มีน้ำหนักแค่ 4 ปอนด์ครึ่ง 1.8 กิโลกรัมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอาวุธรอง เช่น กระบี่ ของฮุสซาร์นั้นก็รับ สไตล์ของฮังการี และ เติร์ก มาเช่นกัน โดยจะเป็นดาบทรงใบมีดยาว ต่อมาเริ่มมีการดัดแปลงให้มันเบาขึ้น และรวมถึงทำเป็นด้ามจับที่มีรูดไว้สอดนิ้วทำให้กระชับมากขึ้นในการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีดาบแบบเยอรมันซึ่งเรียกว่า “koncerz” ซึ่งเป็นดาบตรงยาวกว่า 1.3 เมตร ออกแบบมาเพื่อแทงทะลุเกราะอ่อนโดยเฉพาะ และยังมีตะบองเอาไว้ทุบทหารที่ใส่เกราะเรียกว่า “nadziak” รวมดึงดาบใบมีดกว้างอย่าง “palasz”

 

 

 

ทวนวิหคฮุสซาร์ยาวราวๆ 4 เมตร

ที่มา – https://www.griffin-brady.com/research/

ถึงแม้จะขึ้นชื่อเรื่องการชาร์จทหารม้าฮุสซาร์ยังคงพกอาวุธยิงระยะไกลอย่างปืนและธนู ชนชั้นสูงโปลส่วนใหญ่นั้นจะพกธนูไปไหนต่อไหนตลอดเวลา แต่สกิลการยิงธนูของพวกเขานั้นเข้าขั้นห่วยแตกเลยทีเดียว จนมีคนกล่าวไว้ว่า “ควรเก็บมันไว้ที่บ้านเสียดีกว่า” ฮุสซาร์นั้นเริ่มรับอาวุธปืนมาช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดย ปืนพก “rusznica” และ ปืนยาว ฮุสซาร์เริ่มรับมันมาใช้ในเวลาต่อมาแต่ก็ถือว่าน้อยมาก ในช่วง 1560s ประมาณการว่ามี ฮุสซาร์ 30% ที่พกอาวุธปืน จนถึงยุคของพระเจ้า สเตฟาน บาธอรี่ (Stephen Báthory) พระองค์ได้ปฏิรูปกองทัพหลายอย่างรวมถึง การให้ทหารม้าฮุสซาร์ทุกนายต้องพกปืนอย่างน้อย 1 – 2 กระบอก อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ชอบใช้ทวนมากกว่า และมักพกปืนไว้หลังอานม้า

 

 

วิหคฮุสซาร์กับอาวุธต่างๆ

ที่มา – https://pantip.com/topic/39268328

 

 

การฝึกนั้นทหารม้าฮุสซาร์ค่อนข้างฝึกหนัก และพวกเขายังคงใช้ทวนประลองกันบนหลังม้าแบบอัศวินยุคกลาง การประลองกันซึ่งเป็นพิธีการครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่องานแต่งงานหลวงในปี ค.ศ.1605 ก่อนมันจะค่อยๆหายไป วัยหนุ่มสำหรับเหล่าฮุสซาร์นั้นก็ถือว่ายาวนาน พวกเขาเรียนและฝึกฝนด้านการทหารไปเรื่อยๆจนกว่า ผู้กองจะมีหมายเรียกพวกเขาเข้ากองร้อย ซึงผู้กองก็จะจับพวกเขามาฝึกต่อในการรบที่เป็นรูปขบวน สำหรับสิ่งที่สำคัญสุดของฮุสซาร์คือการควบม้าอันทรงพลังไปพร้อมๆกับการควบคุมทวนของตน พวกเขาต้องฝึกคุมบังเหียนมาด้วยมือข้างเดียว และต้องฝึกให้คล่องเสียด้วย ทั้งยังมีการฝึกให้ขี่ม้าในเส้นทางแคบๆและตีวงเลี้ยวที่กว้างไม่เกิน 3 เมตร นอกจากนี้พวกเขายังฝึกแบ่งกันเป็น 2 กลุ่มชาร์จใส่กันเอง

ทั้งนี้ โรงเรียน ที่สอนเรื่องสงครามดีที่สุดนั้นคือการให้พวกเขาลองรบจริงๆ จะมีการฮุสซาร์ไปประจำการแถบยูเครนไปเวลา 1 ปีเพื่อเฝ้าระวังพวก คอสแสคพวกเร่ร่อนที่อยู่ในยูเครน ซึ่งจะเรียกพวกเขาว่า “kwarciane” พวกเขาต้องรบประปรายกับพวกเร่ร่อนบนหลังม้าเรื่อยมาว่ากันว่าพวกถือเป็นหน่วยรบชั้นหัวกะทิเทียบได้กับ เพรเตอเรียนการ์ดของโรมัน เลยทีเดียว และเมื่อถึงยามสงครามพวกเขาพร้อมถูกเรียกตัวได้ตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อประสบหายนะในการรบกับ พวก คอสแสคและตาตาร์ในช่วง ค.ศ.1648 ทำให้ไม่มีการส่งทหารไปที่นั้นอีกเลย

ขบวนรบของเราฮุสซาร์นั้นคือ “Huf” ซึ่งมาจากภาษาเยอรมันในยุคกลาง ซึ่งมันคือ ฮุสซาร์หลายๆกองร้อยรวมกัน แน่นอนว่ามันไม่ใช่การจัดขบวนที่ตายตัวและอาจจะมีทหารม้าฮุสซาร์ตั้งแต่ 150 – 1,500 นาย ใน 1 Huf แต่ในภายหลังขบวน Huf จะใหญ่เกินไป เลยทำการแบ่งย่อยเป็น Hufy แทน ซึ่งจะมีทหารม้า 150 – 400 นาย ซึ่งในการยุทธที่ คริลครอม (Kircholm) เมื่อ ค.ศ.1605 ทัพม้าฮุสซาร์สามารถเอาชนะกองทัพสวีเดนที่ใหญ่กว่าได้ด้วย ขบวนทัพนี้ แต่ในช่วงหลัง อำนาจการยิงของข้าศึกโปลเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะสวีเดน) ทำให้กองทัพโปลมีการปฏิรูปตามแบบตะวันตก ทหารเริ่มใช้รูปขบวนรบแบบ Line ในขณะที่ ทหารม้าอยู่ที่ปีกซ้ายและปีกขวา ในช่วงแรกการรบนั้นจะเป็นเคลื่อนพลโดยรูปแบบที่

 

เวลาเคลื่อนขบวนจะเรียกว่า “Old Polish battle -array” ทหารม้าแต่ละนายนั้นจะอยู่ห่างกันพอประมาณเพื่อให้สามารถหันได้ 90 องศา ถึง 180 องศา คล้ายๆกับขบวน Loose Formation เพื่อให้สามารถยกเลิกการโจมตีได้หากอำนาจการยิงของข้าศึกมากเกินไป Huf ที่เป็นปีกนั้นจะเข้าโจมตีปีกของข้าศึก หรือเข้าหนุนในการโจมตีหลักซึ่งมักเกิดหลังจากการเปิดฉากยิงกัน โดยฮุสซาร์จะได้รับการสนับสนุนการยิงจากทหารราบ และ ดรากูน

แต่ในเวลาจะเข้าชาร์จนั้นพวกเขาจะปิดระยะเข้ามาเป็น Close Formation และทำการชาร์จอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่าไม่ให้ข้าศึกทันหายใจและฟื้นตัวได้ ซึ่งจะเริ่มทำการควบม้าแบบเต็มสูบในระยะ 100 ทวนของฮุสซาร์ นั้นจะถูกลดต่ำมาอยู่ที่ระดับหัวของม้า การชาร์จของฮุสซาร์เป็นที่น่าครั่นคร้ามมากดังบันทึกในการยุทธที่เวียนนา ค.ศ.1683

 

 

วิหคฮุสซาร์ในการยุทธที่เวียนนา

ที่มา – https://www.storytimes.co/hindi/prithviraj-chauhan-history-in-hindi

 

“เมื่อฮุสซาร์ลดระดับทวนลง พวกเติร์กยืนอยู่หลังกำแพงหลาวที่ปกป้องพวกเขา ฮุสซาร์ไม่เพียงทำเติร์กขวัญฝ่อแต่ทำให้พวกเขาแทบบ้า การชาร์จของพวกเขามิอาจหยุดยั้ง ทวนของพวกเขาแทงทะลุเติร์ก 2 คนในคราวเดียว!! พวกที่เหลือต่างวิ่งหนีกันอลม่าน เหมือนฝูงแมลงวันที่บินหนีกันให้วุ่น”

ข้อความนี้อาจจะดูเกินความจริงไปบ้างหากทหารเหล่านั้นสวมเกราะ ซึ่งทวนของฮุสซาร์นั้นไม่สามารถแทงทะลุเกราะแผ่นของสวีเดนในช่วง 1630s เนื่องด้วยน้ำหนักที่เบาของมันทำให้ทวนฮุสซาร์นั้นมีอานุภาพน้อยกว่าทวนของพวกยุโรปตะวันตก

 

อย่างไรก็ตามด้วยอาวุธดินปืนที่พัฒนามากขึ้น การเข้าชาร์จของทหารม้าฝ่าห่ากระสุนปืนน้อยใหญ่จึงเสมือนการฆ่าตัวตาย รวมถึงกองทัพโปลยุคใหม่เริ่มมีการปฏิรูปให้เหมือนยุโรปตะวันตกมากขึ้น ทำให้ บรรดา วิหคฮุสซาร์ เสื่อมความนิยมลง จนลดบทบาทไปเป็นองครักษ์ส่วนตัวของกษัตริย์จวบจน ค.ศ.1775 ซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในโปแลนด์ ทำให้กองกำลังฮุสซสาร์ของโปแลนด์ถูกยุบลงไปอย่างเป็นทางการในที่สุด ถึงแม้จะไม่มีวิหคฮุสซาร์ แต่โปแลนด์ยังคงเป็นดินแดนขึ้นชื่อเรื่องทหารม้ามาตลอด ทหารม้าโปแลนด์ยังคงขึ้นชื่อเรื่องการทวน และเป็นที่น่าเกรงขามไปทั่วยุโรป

 

 

ทหารม้าโปแลนด์ในยุคนโปเลียน

ที่มา – https://www.goonhammer.com/polish-lancer-painting-1/