X

Katyusha ออร์แกนของสตาลิน

อาวุธยิงจรวด (Rocket Launcher) มีประวัติการใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มถือกำเนิดอาวุธดินปืน ทั้งในจีนและอินเดีย และยุโรปก็เริ่มรับมันมาใช้ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเครื่องยิงจรวดอันโด่งดังของอังกฤษที่เรียกว่า จรวดคองกรีฟ (Congreve rocket) ข้อดีของมันคือ มีอำนาจการทำลายล้างในวงกว้างและส่งเสียงดังข่มขวัญข้าศึกได้ดี แต่ข้อเสียของมันก็คือมีความแม่นยำที่ต่ำและไม่มีความเสถียรไม่เหมือนปืนใหญ่ที่แม่นยำกว่ามาก ทั้งนี้ ยุโรปไม่ได้หยุดพัฒนาอาวุธจรวด จนกระทั่งในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีความพยายามเอาอาวุธจรวดไปติดบนเครื่องบิน

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เครื่องบินรบของหลายฝ่ายเริ่มติดตั้งจรวดเพื่อใช้โจมตีภาคพื้น

ที่มา – https://qph.cf2.quoracdn.net/main-qimg-00871bfbfa4785dfd63839b9f9133001.webp

 

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพอากาศของสหภาพโซเวียตได้พยายามออกแบบอาวุธจรวดที่ใช้กับอากาศยาน โดยเป็นจรวดจากอากาศสู่พื้นรุ่น RS-132 โดยมันเป็นจรวดหัวระเบิดแรงสูงขนาด 132 มิลลิเมตร ซึ่งนอกจากอากาศยานแล้วโซเวียตได้เริ่มมีการพัฒนาให้มันสามารถติดตั้งได้บนรถกระบะ แต่ก็ยังไม่ได้มีการสร้าง รถติดจรวดเหล่านี้จำนวนมากนักกระทั่งเยอรมันรุกรานสหภาพโซเวียตในช่วง ค.ศ.1941 ในห้วงเวลานั้น โซเวียต มีรถยิงจรวดแค่ราวๆ 40 ระบบ ซึ่งมีชื่อว่า BM – 13 หรือ ในห้วงแรกของสงครามโซเวียตขาดแคลนยุทธปัจจัยต่างๆจำนวนมากรวมถึง พาหนะ โซเวียตเองต้องนำ ยานพาหนะทุกอย่างไม่ว่าจะ ตัวถังของรถถังหรือรถกระบะมาดัดแปลงเป็น รถติดจรวดหลายลำกล้อง จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาได้ ออกนโยบายให้เช่า – ยืม อาวุธแก่โซเวียต รวมถึงพวกเขาได้ย้ายฐานการผลิตไปยังแนวหลังที่ปลอดภัย ทำให้ฝ่ายโซเวียตเริ่มตั้งตัวติดและเริ่มผลิตอาวุธออกมาจำนวนมาก

 

รถยิงจรวดหลายลำกล้อง

ที่มา – http://topwar.ru/uploads/posts/2010-07/1278062453_89354.jpg

 

เมื่อโซเวียตเริ่มทำการรุกกลับอาวุธจรวดหลายลำกล้องก็ได้ผลิตออกมาจำนวนมากและมีหลายรุ่น ซึ่ง BM-13 ก็ถือเป็นหนึ่งในรถยิงจรวดหลายลำกล้องที่โด่งดัง รถยิงจรวดหลายลำกล้อง 1 ระบบ อาจจะติดตั้งจรวดตั้งแต่ 1 โหล จนไปถึง 48 ลูก และสามารถปล่อยจรวดออกไปได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร รัศมีการทำลายล้างของจรวดหลายลำกล้อง 4 ระบบ มีอำนาจการทำลายล้างเท่ากับการระดมยิงปืนใหญ่ 70 กระบอกในพื้นที่ 1.5 ตารางไมล์ ในเวลาไม่กี่วินาที!! ข้อดีของมันนั้นก็คือราคาถูกมาก และมันยังเคลื่อนที่ได้เร็วเนื่องจากติดตั้งบนรถกระบะ เมื่อยิงเสร็จมันก็ขับหนีไปทางอื่นทันที  มันผลิตง่ายไม่ซับซ้อนและราคาถูกกว่าปืนใหญ่ ข้อเสียนั้นก็คือเรื่องความแม่นยำและการรีโหลดจรวดเข้ารางจรวดใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง การใช้กำลังของ รถยิงจรวดหลายลำกล้อง นั้นจะใช้ในระดับกองร้อย โดย 1 กองร้อยรถยิงจรวดหลายลำกล้อง จะประกอบด้วย จรวดหลายลำกล้อง 4 ระบบ และมักจะทำการยิงสนับสนุนร่วมกับปืนใหญ่

 

เมื่อรถยิงจรวดหลายลำกล้องยิงจรวดพร้อมๆกันมันจะสร้างเสียงดังข่มขวัญศัตรูแต่ระยะไกลและยังมีอำนาจทำลายล้างเป็นวงกว้างมากอีกด้วย

ที่มา – https://militaryhistorynow.com/wp-content/uploads/2021/01/rockets.jpg

 

มันถูกทดลองใช้ครั้งแรกในสมรภูมิเมืองออร์ชา (Orsha) ช่วงสิงหาคม ค.ศ.1941 ซึ่งมีรถยิงจรวดหลายลำกล้อง เพียง 7 ระบบเท่านั้น ซึ่งได้มีการระดมยิงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในละแวกนั้นที่ทหารเยอรมันยึดครอง ครั้งแรกที่ทหารเยอรมันได้ยินเสียงของมันและพบกับอานุภาพของมัน ทหารเยอรมันแตกตื่นวิ่งหนีกันออกจากหมู่บ้านกันเจ้าละหวั่น ที่หนีไม่ทันก็โดนระเบิดตายคาหมู่บ้าน อำนาจการทำลายล้างและข่มขวัญของมันทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของโซเวียตประทับใจ เรียกได้ว่าพวกเขาไม่เคยเห็นทหารเยอรมันวิ่งหนีป่าราบแบบนี้มาก่อน ซึ่งกว่าเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันจะบินมาช่วย รถยิงจรวดหลายลำกล้อง ก็ขับหนีไปไกลแล้ว!!

 

ภาพฝุ่นควันที่เกิดจากการยิงจรวดหลายลำกล้องพร้อมกัน

ที่มา – https://defencyclopedia.files.wordpress.com/2016/02/8b46f-russian-front-second-world-war-09.jpg?w=496&h=330&zoom=2

 

ต่อมาได้มีการขยายกำลัง จรวดหลายลำกล้องอย่างเร่งด่วน จนตลอดห้วงสงครามได้มีการผลิตมันขึ้นมากว่า 10,000 ระบบ มีดัดแปลงหลายรุ่นทั้ง BM – 8 ติดตั้งจรวดขนาดเล็กบนรถจี๊ป และ BM – 31 ที่ติดตั้งจรวดขนาดใหญ่ 310 มิลลิเมตร ทหารโซเวียตตั้งชื่อเล่นให้กับพวกมันอย่างน่ารักว่า “คัตยูซ่า” หรือแปลเป็นไทยคือ ลูกแมว ตามเพลงพื้นบ้านของรัสเซีย เพราะรถจรวดหลายลำกล้องหลายคันมักจะมีตัว K ประทับตรามาด้วย ส่วนทหารเยอรมันจะเรียกมันว่า “ออร์แกนของสตาลิน” เพราะได้ยินเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของมันเมื่อไหร่หายนะมาเยือนแน่นอน

 

รถถังที่ตัวฐานออกแบบให้ติดตั้งอาวุธจรวดหลายลำกล้องแทน

ที่มา – https://www.militaryfactory.com/armor/imgs/med/bm-8-24-mlrs-tank.jpg

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถยิงจรวดหลายลำกล้อง หลายคันถูกส่งไปยังเกาหลี และทางโซเวียตเองก็ได้พัฒนาอาวุธจรวดของตนเองต่อ จนยุคปัจจุบัน รถยิงจรวดหลายลำกล้องก็ยังคงเป็นอาวุธที่น่าเกรงขาม