X

ยุทธวิธีการแบ่งแยกและทำลาย “เมื่อคุณต้องรับมือกับข้าศึกที่มากกว่า”

ในห้วงตลอดที่เกิดสงครามหลายต่อหลายครั้งบนโลกนั้น ในบางครั้งฝ่ายชนะก็ไม่ใช่ฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าเสมอไป บางครั้งสงครามถูกวัดด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ปัจจัยภายในประเทศคู่สงครามนั้นๆและอื่นๆอีกมากมาย

แต่ในบางครั้งฝ่ายที่มีจำนวนและทรัพยากรที่น้อยกว่าก็สามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่าด้วย กลยุทธ์และการการจัดกำลังที่เหนือชั้นกว่า ซึ่งในวันนี้ผมมานำเสนอ กลยุทธ์ที่มีชื่อ “แบ่งแยกและทำลาย”

source : https://patr.io/LKM61

จากในรูปตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าเลือกที่จะรวมกำลังเข้าตีตรงกลางแนวรบข้าศึก ซึ่งมีกำลังน้อยกว่า 

กลยุทธ์แบ่งแยกและทำลาย แปลง่ายๆเลยคือ การแบ่งแยกกองทัพของข้าศึกแล้วทำลายทีละส่วน ยิ่งในกรณีที่มีกองทัพน้อยกว่า ควรจะแยกกองทัพใหญ่ข้าศึกให้ออกจากกัน ให้ฝ่ายที่มีน้อยกว่าสามารถรวมกำลังรบให้เหนือกว่าฝ่ายที่มีมากกว่าได้ในตำบลที่จะเข้าตี ทั้งนี้ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าอาจจะใช้ข้อได้เปรียบหลายอย่างเช่น กองทัพของข้าศึกตั้งห่างกันเกินกว่าจะสนับสนุนกันได้ทันท่วงที กองทัพข้าศึกถูกสกัดกั้นจากภูมิประเทศเช่นภูเขา หรือแม่น้ำ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้สะดวก ข้าศึกขาดกำลังสนับสนุนทางอากาศหรือปืนใหญ่ หรือ มีการข่าวที่ย่ำแย่ ในขณะเดียวกันฝ่ายที่มีน้อยกว่าก็ควรเป็นฝ่ายที่ริเริ่มทำการรุกก่อนเพื่อชิงความได้เปรียบ ฝ่ายที่น้อยกว่าต้องเคลื่อนทัพให้รวดเร็วกว่าฝ่ายที่มาก กว่า โดยอาศัยทั้งภูมิประเทศ ความสับสนอลม่าน ของข้าศึก 

สำหรับเคสตัวอย่างที่จะยกมานั้น คงหนีไม่พ้น “นโปเลียน โบนาบาร์ต” นักการทหารที่โด่งดังในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งตัวเขาเองเรียกได้ว่า ช่ำชอง การใช้กลยุทธ์แบ่งแยกและทำลายยิ่งนัก ทั้งในระดับยุทธศาสตร์สงครามใหญ่ หรือ ระดับยุทธวิธีในการรบกลางแปลง

source : https://patr.io/g6Yta

นายพล นโปเลียน โบนาบาร์ต นักการทหารผู้โด่งดังของฝรั่งเศสเจนจัดยุทธวิธี

ยกตัวอย่างเช่นการทัพในอิตาลีช่วง ค.ศ.1796 – 1797 ซึ่ง กองทัพของนโปเลียน มีกำลังพลทั้งสิ้นราว 36,000 – 37,000 นาย ต้องปะทะกับ กองทัพพันธมิตรออสเตรีย – ปิดมองต์ทั้งสิ้น 52,000 นาย อย่างไรก็ตามกองทัพฝ่ายพันธมิตร ตั้งห่างจากกันโดยมีเขาขวางกั้น

ทำให้นโปเลียนเห็นช่องว่างที่จะกรีธาทัพแทรกตรงกลางระหว่างกองทัพข้าศึก ก่อนจะกันกองทัพทั้ง 2 ให้ห่างกันและทำลายทีละกองทัพ

นโปเลียนได้อาศัย การจัดทัพในระบบ กองพล “Division” ซึ่งนายพลแต่ละคนสามารถทำการรบและเดินทัพได้อิสระในหลายๆเส้นทาง ไม่ต้องพึ่งกองทัพใหญ่ เดี๋ยวความยืดหยุ่นนี้เองทำให้กองทัพนโปเลียนเคลื่อนทัพไวกว่าศึก และหากเจอกองทัพใหญ่ของข้าศึกแต่ละกองพลจะรวมกำลังกันเพื่อต่อสู้

สิ่งนี้เรียกว่า แยกกันเดินทัพและรวมกันเมื่อรบ ในขณะที่ กองทัพพันธมิตรออสเตรีย ปิดมองต์ นอกจากจะตั้งห่างกันไม่พอ กองทัพทั้ง 2 ยังขาดการประสานงานที่ดี และไม่ไว้ใจกัน ทำให้พวกเขาไม่สามารถรวมกำลังกันรบได้และแพ้ในที่สุด

source : https://patr.io/egzRL

แคมเปญอิตาลีของนโปเลียน 

สีแดง – กองทัพฝ่ายพันธมิตร (ออสเตรีย – ปิดมองต์)

สีน้ำเงิน – กองทัพฝรั่งเศส

จากรูปเห็นได้ว่ากองทัพนโปเลียนเคลื่อนทัพผ่ากลางแนวรบของกองทัพพันธมิตรที่ตั้งกระจายกันเป็นแนวยาว ซึ่งนโปเลียนแยกกองทัพของพวกเขาออกจากกันและเข้าทำลายทีละทัพ

นี้เคสตัวอย่างเคสแรกของการแบ่งแยกและทำลาย ทั้งนี้มีอีกหลายการยุทธ์และสงครามที่ แม่ทัพใช้การแบ่งแยกและทำลายข้าศึก ไม่ว่าจะเป็น การยุทธ์ที่ กัวกามาเล่ เมื่อ 331 ปี ก่อน ค.ศ. พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้ลวงกองทัพเปอร์เซียส่วนใหญ่ให้เข้าตี

กองกำลังหลอกล่อของมาซิโดเนีย ก่อนที่ตัวเองจะนำกองทหารม้าคอมพาเนียน อันทรงพลังเข้าชาร์จแนวรบตรงกลางของเปอร์เซียจนแตก หรือ ในการปฏิบัติการเข็มทิศ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายอังกฤษมีทหารเพียง 36,000 นาย ได้ทำลายกองทัพอิตาลีที่มีจำนวนถึง 150,000 นาย พวกอิตาลีตั้งแนวรบกระจายกันในแนวยาว ทำให้แต่ละแนวไม่สามารถสนับสนุนกันได้ อังกฤษเลยสามารถเข้าตีทีละแนวรบจนแตก

จะเห็นได้เลยว่าการแบ่งแยกและทำลายถูกใช้มาแต่ ยุคโบราณ จนถึง สงครามสมัยใหม่ มันเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ล้าสมัยและปรับปรุงวิวัฒนาการมาตามยุคตลอดจวบจนปัจจุบัน

เช่นการใช้อากาศยานหรือเรดาห์ที่เหนือกว่าของฝ่ายตนในการหาข้อมูลของข้าศึก และโจมตีก่อนที่พวกเขาจะรวมตัวกันติด เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราควรศึกษากลยุทธ์และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในอดีตเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ตน