X

วิทยุทรานซิสเตอร์ในทางการทหาร

วิทยุเครื่องแรกของโลก กำเนิดขึ้นมาจากนักประดิษฐ์ชาวอิตาลี ชื่อว่า Guglielmo marconi เขาสร้างเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นวิทยุโทรเลข ได้ไกลว่า 2000 ไมล์ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งในตอนนั้นก็ยังเป็นแค่สัญญาณโทรเลขอยู่ แต่เขาก็ยังได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร วิทยุเครื่องแรกของโลก ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1890

ในยุคแรกๆ นั้น การรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ นั้น ยังไม่สามารถที่จะส่งสัญญาณออกไปเป็นเสียงพูดได้ ภายหลังได้รับการพัฒนาต่อโดย ศาสตราจารย์ Riginald A. Fessenden และ Lee de Forest ทำให้วิทยุสามารถส่งสัญญาณเสียงพูดออกไปยังเครื่องรับได้ในช่วงปี 1900

กาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีเริ่มเติบโตขึ้น มีการคิดค้นเทคโนโลยีขยายสัญญาณที่ชื่อว่า amplifier ที่เพิ่มศักยภาพของวิทยุอย่างน่าทึ่ง ทำให้ตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา มันสามารถเป็นได้ทั้งแหล่งข่าว สื่อบันเทิง และช่องทางสื่อสารได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะผ่านมาแล้วร้อยกว่าปี วิทยุ ก็ยังเป็นหนึ่งในอุปกรณ์รับมือภัยพิบัติของชาวอเมริกันที่สำคัญอยู่ และยังถูกใช้งานกันอย่างทั่วหลายในด้านการทหาร มันมีความสำคัญขนาดไหน ? ใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

เรามาดูคำตอบกันครับ

ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1

การใช้วิทยุในทางทหารเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตอนนั้นสัญญาณวิทยุยังกระจายอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดมาก (2000 หลา) การติดตั้งวิทยุสนามก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นในสมัยนั้น เพราะมันทั้งบอบบาง และหนัก ทหารจึงต้องใช้สัตว์ในการบรรทุกวิทยุสนามเพื่อเคลื่อนที่เข้าพื้นที่ที่มีสัญญาณ ทหารบางหน่วยจึงยังเลือกใช้การส่งโทรเลขหรือโทรศัพท์สนามอยู่ การขนย้ายก็ยังคงต้องใช้ยานพาหนะเป็นหลัก เพราะขนาดและน้ำหนัก เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ยกเว้นเหล่าปืนใหญ่ หรือเหล่าอื่นๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้า

SCR-54 ของกองทัพบกสหรัฐ ที่ทหารเหล่าปืนใหญ่ใช้ในการอำนวยการยิง ถูกใช้งานจริงเพียงไม่กี่ตัว เพราะผลิตมาเมื่อสงครามใกล้จบแล้ว วิทยุที่ไม่ถูกนำไปประจำการก็ถูกส่งกลับไปขายเป็นของสะสม

 

Radio Tractor no.3 (K-5) ของกองทัพบกสหรัฐ เสาอากาศของมันสูงถึง 60 ฟุต ที่พึ่งมาช่วงท้ายสงครามเช่นกัน

ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาคือสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ ถือเป็นช่วงที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านยุทธวิธี ยุทโธปกรณ์ การแพทย์ หรือการสื่อสาร รวมถึงมนุษย์กันเอง ที่ให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารมากขึ้น การพัฒนาจนถึงตอนนี้ทำให้ทหารราบสามารถนำวิทยุออกไปปฏิบัติภารกิจได้แล้ว ซึ่งตำแหน่งที่ถูกเพิ่มมาในหมวดปืนเล็กทหารราบก็คือ พลวิทยุ นั่นเอง ซึ่งในยุคนี้ การสื่อสารทางวิทยุเริ่มกว้างขวางมากขึ้น ทำให้เกิดยุทธวิธีใหม่ๆมากมาย เช่น การร้องขอการยิงปืนใหญ่จากทหารราบ การส่งกำลังทางอากาศ การโจมตีทางอากาศ หรือการรบแบบรวมเหล่าทัพเลย

SCR-300 วิทยุสนามแบบ walkie talkie ตัวแรกในการทหาร ถูกพัฒนาโดยบริษัท Motorola ในปี 1940 มีการผลิตออกมาทั้งหมดราว 50000 ตัว ซึ่งมันก็ผ่านการใช้งานอย่างหนักทั้งในสมรภูมินอมังดีและสมรภูมิอื่นๆ ด้วยข้อดีในสมัยนั้นคือ ทหารราบสามารถติดต่อหน่วยอื่น หรือกองบังคับการได้ระหว่างการรบ (real time) โดยพลวิทยุจะแบกวิทยุไว้บนหลัง แล้วนายทหารจะเป็นคนติดต่อสื่อสารเอง ถ้าพูดถึงการจัดกำลังในปัจจุบัน จะให้พลวิทยุอยู่ติดกับผู้บังคับหมวดปืนเล็กนั่นเอง ซึ่งข้อด้อยของมัน ก็ยังมีอยู่มากโข ทั้งน้ำหนักของมันที่พลทหารต้องแบกวิ่งเข้าตีถึงเกือบ 20 กก. ปัญหาเรื่องของคุณภาพแบตเตอรี่ และการขาดแคลนแบตเตอรี่ เป็นต้น

SCR-300 (BC-1000) ของกองทัพบกสหรัฐ

 

การใช้งานของ SCR-300 ประกอบด้วย ผบ.หน่วย และพลวิทยุ

ไม่จบเพียงแค่นี้ครับสำหรับช่วงสมัยนั้น Motorola ยังพัฒนาวิทยุสนามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรอีกหลายโมเดล ซึ่งในปี 1942 SCR-536 บรรพบุรุษวิทยุระดับมือถือแบบ handie- talkie หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “ว.” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาครับ

SCR-536 ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนการความปลอดภัยในการสื่อสารภายใต้สภาวะกดดันหรือระหว่างการสู้รบเป็นพิเศษ จากวิทยุระดับแบกหลังหนักเกือบ 20 กก. เหลือเพียง 2.3 กก. และขนาดที่เล็กพอให้มือถือได้ มีการผลิตมากถึง 130,000 ตัว ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร หน่วยทหารสามารถติดต่อกันได้ในระยะห่างมากกว่า 1 ไมล์ บนพื้นดิน และ 3 ไมล์ บนท้องทะเล  ทำให้การรบเป็นไปด้วยความพร้อมเพรียง และแม่นยำ แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศ และข้อจำกัดของแบตเตอรี่ ที่ยังหมดไว และเป็นแบบใช้แล้วทิ้งเหมือนเดิม จึงทำให้ระยะทำการมีความคลาดเคลื่อน หรือน้อยลงบ้าง ในหลายๆสถานที่ เช่น หุบเขา กลางเมือง ป่า เป็นต้น ข้อด้อยของมันคือระยะทางการส่งสัญญาณที่น้อยกว่า SCR-300 จึงมีการใช้วิทยุทั้ง 2 โมเดลนี้ควบคู่กันไป

สำหรับฝ่ายอักษะเอง ก็มีวิทยุสนามที่คล้ายคลึงกับ SCR-300 เช่นกัน ต่างกันตรงที่แบตเตอรี่ ที่ทางฝั่งเยอรมันจะเป็นแบบ rechargeable และฝั่งญี่ปุ่นจะเป็นแบบมือหมุนกำเนิดไฟฟ้า

ทหารสหรัฐกับ SCR-536

ยุคสงครามเย็น

ต่อมาเป็นยุคที่พวกเราจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยครับ นั่นก็คือสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ไกลตัวพวกเรามากนัก กองทัพไทยไม่ได้เพียงแค่ได้รับยุทโธปกรณ์ในการต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ได้รับอิทธิพลและคู่มือการฝึกจากกองทัพสหรัฐด้วย เวลาผ่านไปหลาย 10 ปี การใช้วิทยุในการทหารก็ยังไม่ถูกลดความสำคัญแต่อย่างใด วิทยุสนามที่ทหารไทยเรารู้จักกันดี ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ นั่นก็คือ AN/PRC 77 หรือที่เรียกกันติดปากทั้งวงการว่า “ปิ๊ก 77” ครับผม

AN/PRC 77

PRC 77 นี้เป็นวิทยุสนามที่ทหารหลายๆประเทศรู้จักกันดี ในเรื่องของความทนทาน มันถูกนำเข้าสมรภูมิในปี 1968 โดยกองทัพสหรัฐ สำหรับทหารราบ ก็ยังต้องมีพลวิทยุเหมือนเดิม ประสิทธิภาพในเรื่องของแบตเตอรี่และการส่งสัญญาณได้รับการปรับปรุงเพิ่มมาอย่างมาก จนมันเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลไปแล้ว ทำให้มันสามารถนำไปไว้บนยานพาหนะก็ได้ หรือจะไว้ที่ฐานที่มั่นก็ดี มีการผลิตอุปกรณ์เสริมมากมายเพื่อรองรับการทำงานของมัน ไม่ว่าจะเป็น เสาอากาศ หูฟัง แบตเตอรี่ และอื่นๆ จึงทำให้ปัจจุบัน ก็ยังมีบางประเทศ ที่ใช้งานในสนาม และเป็นเครื่องช่วยฝึก ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยครับ

นอกจาก PRC 77 แล้ว วิทยุประเภท handie-talkie ก็ยังไม่มีการเลิกใช้ในทางทหารนะครับ ซึ่งเจ้า handie-talkie หรือ ว. ที่คุ้นชินกับปากพวกเรานั้น ก็มีอีกตัวหนึ่งที่อยู่เคียงข้างกำลังพลทหารไทยมาตั้งแต่นั้นมา นั่นก็คือ PRC-624 ที่ใช้งานควบคู่ไปกับเจ้า PRC 77 ครับผม

PRC 77 กับชุดอุปกรณ์เสริม

 

PRC-624 ของกองทัพบกไทย

 

PRC 77 + อุปกรณ์เสริม บนหลังพลวิทยุทบ.สหรัฐ

ยุคดิจิทัล

หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น โลกเดินทางเข้าสู่ยุคดิจิทัล เกิดการติดต่อสื่อสารหรือสื่อบันเทิงแบบใหม่มากมาย เช่น อินเทอร์เน็ต ดาวเทียม โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ที่มาแทนที่การให้ความบันเทิงผ่านวิทยุกระจายเสียง การใช้วิทยุในภาคพลเรือนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีอย่างอื่นที่อำนวยความสะดวกและมีประสิทธิภาพกว่า แต่สำหรับกองทัพนั้น ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา วิทยุ ยังไม่ถูกลดบทบาทลงแม้แต่นิดเดียว ถึงแม้ว่าจะมี 4G หรือ GPS กำลังพลก็ยังต้องได้รับการฝึกการใช้วิทยุเสมอ เพราะคลื่นวิทยุ สามารถพบเจอได้ทุกที่ เราสามารถใช้วิทยุสื่อสารได้ตลอด ถ้าอยู่ในระยะที่วิทยุสามารถเชื่อมต่อกันได้ เพียงแค่การปรับความถี่คลื่นให้ตรงกัน แต่สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือดาวเทียม ถ้าการเชื่อมต่อไปไม่ถึง ก็จะทำให้คุณตาบอดได้เช่นกัน

ปัจจุบัน การใช้วิทยุ ดูเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การสื่อสารจะเป็นไปด้วยความราบรื่นตลอด Jammer หรือ อุปกรณ์ตัดสัญญาณ ถือว่าเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารผ่านวิทยุในปัจจุบันเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องรู้ความถี่สื่อสารของข้าศึก เพียงแค่ใช้อุปกรณ์นี้ การสื่อสารทั้งหมดก็จะถูกรบกวนและตัดขาดไประยะหนึ่งเลยทีเดียว ข้อดีของ Jammer นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่รบกวนการติดต่อสื่อสารของข้าศึกอย่างเดียว มันยังมีส่วนช่วยในการกู้ระเบิด หรือตัดสัญญาณบังคับโดรนของข้าศึกด้วย 

ภาพตัวอย่าง Jammer กู้ระเบิด จาก ctstechnology 

 

ตัวอย่างการนำ Jammer มาประยุกต์ใช้กับยุทธวิธี

หลังจากที่โลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ข้อจำกัดเรื่องขนาด น้ำหนัก และความจุแบตเตอรี่ ไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป จาก ว. ขนาดเท่าแขน เหลือเพียงแค่ไม่เกิน 1 ฝ่ามือ ทหารสามารถใช้วิทยุสนามคู่กับระบบดาวเทียมได้ เหมือนกับสมัยก่อนที่ใช้โทรเลขควบคู่กับวิทยุ การพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผมก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า เราจะเลิกใช้วิทยุกันเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นกันแน่ๆคือ การประยุกต์ในด้านยุทธวิธี การต่อต้านข่าวกรองรูปแบบใหม่ หรือการพัฒนาอื่นๆ ที่การใช้วิทยุสื่อสาร จะเป็นหนึ่งในภารกิจนั้น การข่าวที่ดี จะทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านครับ