X

Cuirassier ทหารม้าหุ้มเกราะ หน่วยอัศวินสุดท้ายของยุโรป

ในยุคโบราณถึงยุคกลาง ทหารม้า จัดว่าเป็นหนึ่งในหน่วยทหารที่น่าเกรงขามยิ่งนักด้วยความที่เคลื่อนที่ว่องไว สามารถโจมตีข้าศึกได้แบบฉับพลันคาดไม่ถึง โมเมนตัม การชนอันมหาศาล ซึ่งมนุษย์ธรรมดาคงมิอาจหยุดยั้งม้าได้ถ้าไม่มีอาวุธหรือตั้งรับในรูปขบวน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อัศวินในยุคกลาง ซึ่งนอกจากจะขี่ม้าแล้วยังหุ้มเกราะทั้งตัวจะเป็นอะไรที่น่ากลัวขนาดไหน อย่างไรก็ตามการเข้ามาของอาวุธดินปืนซึ่งสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมถึงการกลับมาของระบบกองทัพประจำการ เลยทำให้ชนชั้น อัศวิน เริ่มแปรสภาพกลายเป็น นายทหารผู้บัญชาการรบแทน ทหารม้าจากบทบาทหลักก็เริ่มลดบทบาทลงมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเรเนซองส์ ทหารส่วนใหญ่ยังคงใส่เกราะกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารม้าแต่ เกราะของพวกเขาไม่ใช่เกราะที่ใส่ทั้งตัวตั้งแต่หัวยันเท้าแบบอัศวิน แต่จะเป็นเกราะ 3 ส่วนตั้งแต่หัวจรดเข่า ซึ่งพวกนี้ถูกเรียกว่า ครุยราสซิเยอร์ หรือที่แปลว่าหุ้มเกราะ ซึ่งพวกหากจะว่าไปพวกเขาคืออัศวินแต่เริ่มทิ้งอาวุธหลักอย่างทวนไปแล้ว

 

 

ครุยราสซิเยอร์ในยุคเรเนซองส์ เริ่มใช้ปืนเป็นอาวุธหลักแทนทวน

 

 

โดยในช่วงยุคเรเนซองส์ ทหารม้าในตอนนั้นเริ่มทิ้งทวนหรือ “Lance” ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้ในการชาร์จเพื่อทำลายแนวข้าศึกหรือจัดการกับทหารม้าฝ่ายตรงข้าม เนื่องด้วยช่วงหลังการชาร์จด้วยทวนเริ่มไร้ประสิทธิภาพเนื่องจากอำนาจการยิงที่มากขึ้นของทหารราบ ทหารม้า ครุยราสซิเยอร์ เลยเปลี่ยนมาใช้ดาบกับปืนเป็นอาวุธหลักแทน ซึ่งจะมีหลักนิยมในการใช้คือการควบม้าวนเป็นรูปหอยทากที่เรียกว่า คาราโคล (Caracole) โดยการควบเข้าไปใกล้ทหารราบของข้าศึกและยิงปืนใส่ก่อนจะควบหนีออกมาวนไปเรื่อยๆเป็นรูปวงกลม โดยทหารม้าครุยราสซิเยอร์ ส่วนดาบนั้นจะสู้กับข้าศึกในระยะประชิดยามที่ข้าศึกกำลังแตกหรือถอยทัพ ทหารม้าครุยราสซิเยอร์ เป็นที่นิยมทั่วยุโรปและเริ่มมีการว่าจ้างหรือจัดตั้งหน่วยของพวกเขาขึ้นมา

 

 

กลยุทธยิงแล้วล่าถอยของทหารม้าในยุคเรเนซองส์

 

 

พอถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เริ่มมีการใช้ปืนคาบศิลาซึ่งมีอัตรายิงเร็วสูงกว่าปืนคาบชุด อำนาจการยิงของทหารราบและปืนใหญ่มากขึ้น ทหารราบเริ่มละทิ้งเกราะ ทหารม้าก็เช่นกันจากเดิมที่ใส่เกราะ 3 ส่วน ก็เหลือแค่ เกราะบริเวณลำตัว หมวกเหล็ก กับ แขน เพื่อความคล่องตัวยิ่งขึ้น หลักนิยมของทหารม้าก็เปลี่ยนไปตาม ในสมัยของพระเจ้า กุสตาฟ อดอล์ฟฟุส แห่ง สวีเดน ซึ่งเป็นกษัตริย์นักการทหาร เขามองเห็นว่า กลยุทธ์การยิงแล้วหนี หรือทำการยิงก่อนชาร์จ นั้นไร้ประสิทธิภาพ จึงได้ให้ทหารม้ากลับมาทำการชาร์จเหมือนเดิมอีกครั้ง โดยอาศัยความว่องไวในการเคลื่อนที่เป็นหลัก เนื่องจากใส่เกราะที่น้อยลงแล้วความเร็วของทหารม้าเพิ่มขึ้น เมื่อสวีเดนทำแล้วปรากฏว่าได้ผล ซึ่งพวกเขาสามารถใช้งานทหารม้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้งไม่นานทั้งยุโรปก็ละทิ้ง คาราโคล และหันกลับมาใช้ทหารม้าในการชาร์จอีกครั้ง โดยสำหรับทหารม้าครุยราสซิเยอร์ จะคงทำหน้าที่หลักคือการเข้าตีแนวรบข้าศึกให้แตกหัก สำหรับอาวุธปืนนั้นยังคงเก็บไว้เป็นอาวุธสำรอง

 

 

ครุยราสซิเยอร์ในยุคนโปเลียน

 

ทหารม้าหุ้มเกราะครุยราสซิเยอร์ นั้นจะไม่ถูกใช้พร่ำเพรื่อหรืออยากชาร์จตอนไหนก็ชาร์จแบบอัศวินสมัยก่อน แต่จะชาร์จเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่านี้คือจังหวะที่จะใช้เผด็จศึกเช่นในการยุทธที่ โรสบัค ค.ศ.1757 พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชแห่งปรัสเซียได้ใช้ ครุยราสซิเยอร์ ของเขาชาร์จลงจากเนินใส่ กองทัพผสมฝรั่งเศส – ออสเตรีย ที่ไม่ทันตั้งตัวจนแตกพ่าย!! โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนโปเลียนที่ได้ขยายกองทหารม้าหุ้มเกราะเป็นจำนวนมาก รวมแล้ว 14 กรม ซึ่งมีกำลังพล 7,000 – 10,000 นายทีเดียว ทหารม้าครุยราสซิเยอร์ของนโปเลียนนับเป็นหัวหอกสำคัญในการเผด็จศึก นโปเลียนจะใช้พวกเขาเข้าชาร์จใส่แนวรบที่อ่อนแอของข้าศึก หรือใช้ยันการรุกของข้าศึกให้ช้าลง แต่มีครั้งสุดท้ายการยุทธที่วอเตอร์ลู ซึ่งจอมพลของนโปเลียนอ่านสถานการณ์รบผิดพลาดและนำทหารม้าครุยราสซิเยอร์และทหารม้าหน่วยอื่นเข้าชาร์จใส่ที่มั่นอันเข้มแข็งของข้าศึกจนเสียหายหนัก

จนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุคที่อาวุธปืนเริ่มทันสมัยขึ้นทั้งมีระบบปืนลูกเลื่อน ดินปืนไร้ควัน ปืนกล ยิ่งทำให้อำนาจการยิงมากขึ้นตาม แต่หลายๆชาติก็ยังคงมีทหารม้าครุยราสซิเยอร์ประจำการอยู่ถึงแม้จะไม่ได้ใช้มันก็ตาม ครั้งสุดท้ายที่มีการใช้ทหารม้าครุยราสซิเยอร์ทำการรบแบบเข้าชาร์จคือช่วง สงครามฟรังโก – ปรัสเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายฝรั่งเศสที่ได้ทำการชาร์จใส่ฝ่ายเยอรมันและมันจบลงด้วยหายนะเมื่อพวกเขาต้องพบกับอำนาจการยิงของปืนสมัยใหม่ ทหารม้าครุยราสซิเยอร์ ไม่ทันเข้าถึงแนวรบของข้าศึกด้วยซ้ำก็สูญเสียไป 800 นาย จาก 1,200 ในการยุทธที่ วอธ (Worth) สงครามครั้งนี้จึงเป็นการปิดฉากการรบในยุคเก่าของทหารม้าครุยราสซิเยอร์

 

ครุยราสซิเยอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 1

 

แต่หน่วยทหารม้าครุยราสซิเยอร์ยังอยู่และยังคงเป็นทหารม้าที่สวมเกราะบริเวณลำตัวและหมวกเหล็กกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายชาติได้เริ่มยุบหน่วยนี้ไม่ก็แปรสภาพมันให้กลายเป็นหน่วยอื่นซึ่งสำหรับฝรั่งเศสเครื่องแบบของพวกเขายังคงขนบธรรมเนียมแบบเดิมเพียงแต่ไม่ได้รบบนหลังม้าแบบสมัยก่อน เปลี่ยนมารบแบบทหารราบแทน จวบจนทุกวันนี้ยังมีบางประเทศยังคงชื่อ “ครุยราสซิเยอร์” ไว้อยู่เพียงแต่พัฒนามันให้ทันสมัยตามยุคเช่นฝรั่งเศส ยังมี กรมทหารม้าครุยราสซิเยอร์ที่ 12 ซึ่งมันคือ กรมรถถังหนักนี้เองหรืออย่าง สเปน หรือ อิตาลี ยังคงมี ทหารม้าครุยราสซิเยอร์เป็นกองทหารเกียรติยศสำหรับสวนสนาม แน่นอนว่าบทบาทในการรบของพวกเขาจะเปลี่ยนไปมากแต่ ครุยราสซิเยอร์ ก็เป็นหน่วยที่ไม่มีวันตายและอยู่ถึงปัจจุบันนี้

 

กรมทหารม้าครุยราสซิเยอร์ที่ 12 ซึ่งในปัจจุบันคือ กรมรถถังหนัก