X

ยุทธการวอเตอร์ลู ยุทธการชี้ชะตาจักรพรรดินโปเลียน

 

นโปเลียน โบนาบาร์ต นักการทหารและจักรพรรดิฝรั่งเศสชื่อดังที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเขาเป็นนักการทหารที่ยอดเยี่ยมที่ทำให้สงครามยกระดับไปอีกขั้น รวมถึงเป็นนักปกครองที่เก่งกาจได้ทิ้งมรดกอะไรไว้หลายอย่างแก่ชนรุ่นหลังทั้งประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่ง และความเป็นชาตินิยมในหลายประเทศ ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครอยู่ยั้งยืนยงวาสนาของนโปเลียนเริ่มตก รวมถึงตัวนโปเลียนเอง ซึ่งในการยุทธครั้งสุดท้ายที่เขาได้เขาโรมรัมกับข้าศึกที่ วอเตอร์ลู กองทัพของเขาประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ นโปเลียน

 

ย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ.1814 นโปเลียนได้พ่ายแพ้สหพันธมิตรของยุโรปจนโดนเนรเทศไปยัง เกาะเอลเบ้ ส่วนฝรั่งเศสนั้นราชวงศ์บูร์บองกลับมาปกครองใหม่ แต่ผู้คนในฝรั่งเศสล้วนไม่พอใจการปกครองของราชวงศ์บูร์บองที่กดขี่ รวมถึงบรรดานายทหารที่ยังนิยมในตัวนโปเลียนมาก นโปเลียนแอบลอบกลับมาฝรั่งเศสและกลับมายึดอำนาจจากราชวงศ์บูร์บองอีกครั้งโดยมีกองทัพสนับสนุน แต่ประชาชนฝรั่งเศสนั้นบางส่วนยังไม่นิยมนโปเลียนที่ชอบทำสงคราม นโปเลียนพยายามทางการทูตหลายอย่างเพื่อไม่ให้สงครามเกิดแต่จนแล้วจนรอดพันธมิตรยุโรปก็ไม่ไว้ใจนโปเลียน และประกาศสงครามสัมพันธมิตรครั้งที่ 7 อีกครั้งเพื่อโค่นระบอบโบนาบาร์ต นโปเลียนเลยต้องกลับมาพึ่งชัยชนะในสมรภูมิอีกครั้งเพื่อหวังพลิกชะตาของตน นโปเลียนได้ระดมกองทัพใหม่ใช้ชื่อว่า กองทัพภาคเหนือ ( Armee du Nord ) มีกำลังพลราวๆ 120,000 – 130,000 นาย เคลื่อนทัพขึ้นเหนือสู่เบลเยี่ยมซึ่งมีกองทัพพันธมิตรของ ดยุคแห่งเวลลิงตัน และ จอมพลบลูเชอร์ปรัสเซีย รวมแล้วกำลังพลราวๆ 200,000 – 230,000 นาย

 

 

นโปเลียนได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากทหาร

ที่มาภาพ – https://www.mapsofworld.com/on-this-day/february-26-1815-napoleon-bonaparte-escapes-from-elba/

 

กองทัพนโปเลียนที่ระดมมาใหม่นั้นไม่ใช่ทหารผ่านศึกที่ช่ำชองเหมือนสมัยก่อน แต่ไม่ต่างจากฝ่ายพันธมิตรเท่าไหร่ที่ไม่พร้อมรบเช่นกัน แต่นโปเลียนขาดแคลนนายทหารชั้นหัวกะทิจำนวนมากเพราะพวกเขาบางส่วนเลือกที่จะไม่ช่วยนโปเลียนและเลือกวางตัวเป็นกลางทำให้ นโปเลียนต้องใช้นายทหารใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์รบมาคุมกองทัพ  ถึงแม้จำนวนจะน้อยกว่า แต่นโปเลียนตั้งใจจะใช้ยุทธศาสตร์ที่ตนถนัดคือแบ่งแยกและทำลายกองทัพทั้ง 2 มีละกองทัพเหมือนที่สำเร็จมาหลายครั้ง นโปเลียนเคลื่อนทัพข้ามพรมแดนเบลเยี่ยม ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1815 ที่ เชอร์ลัวร์ (Charleroi) โดย กองทัพภาคเหนือจะเคลื่อนทัพผ่ากลางกองทัพพันธมิตรทั้ง 2 พอดี บลูเชอร์ กับ เวลลิงตัน ตกใจมากไม่คิดนโปเลียนจะบุกเอาดื้อๆแบบนี้ กองทัพของพวกเขากระจายแนวรบยาวกันกว่า 90 ไมล์ ซึ่งใช้เวลาหลายวันที่จะรวมพล อย่างไรก็ตาม ผบ.ทั้ง 2 ได้ตกลงกันว่า จะสนับสนุนซึ่งกันและกันหากใครโดนโจมตี

 

วันที่ 16 มิถุนายน กองทัพนโปเลียนตรวจพบกองทัพใหญ่ปรัสเซียกำลังระดมพลที่ ซอมเบรฟ (Sombreffe) นโปเลียนตัดสินใจทุ่มกองทัพส่วนใหญ่เข้าถล่มบลูเชอร์ทันที และให้ จอมพลกับกองทัพที่เหลือดูปีกซ้ายของนโปเลียน ที่เควต้า บราสต์ หน่วงเวลาไม่ให้เวลลิงตันมาช่วยได้ทัน กองทัพของบลูเชอร์ตอนนี้ประกอบด้วย 3 กองทัพน้อยราวๆ 84,000 นาย พร้อมปืนใหญ่ 224 กระบอก พวกเขาตั้งมั่นอยู่ที่ ลิญญี่ (Ligny) แผนของบลูเชอร์นั้นง่ายๆคือพยายามตั้งรับให้ถึงที่สุดเพื่อรอให้ เวลลิงตันมาช่วย ในขณะเดียวกัน นโปเลียนมี กองทัพราวๆ 68,000 – 73,000 นาย นโปเลียนมั่นใจว่า บลูเชอร์จะตั้งอยู่แบบนั้นเขาเลย เรียกกองหนุนจาก จอมพลเนย์ให้เข้าตีโอบปีกชวาของปรัสเซีย และที่เหลือโจมตีตรงกลางเจาะแนวรบปรัสเซียให้แตก ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนนี้ กองทัพปรัสเซียอาจจะเสียหายเกินครึ่งเลยทีเดียว!! ซึ่งนโปเลียนสามารถเอาชนะกองทัพของ จอมพลบลูเชอร์ได้ แต่ไม่สามารถทำลายกองทัพของ บลูเชอร์ ได้เนื่องจาก จอมพลเนย์ไม่นำทหารมาโอบปีกตามแผน เพราะเขายันกองทัพของเวลลิงตันอยู่ อย่างน้อยนโปเลียนเชื่อว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ปรัสเซียอ่อนแอลงไปอีกหลายวัน และเขาใช้เวลานี้เข้าโจมตีกองทัพแองโกล – ดัตซ์ ของเวลลิงตัน!!

 

 

 

 

 

 

รูปบน – ดยุคแห่งเวลลิงตัน ผบ.กองทัพผสมแองโกล – ดัตซ์ ผู้มีประสบการณ์รบในสเปน

รูปล่าง – จอมพลบลูเชอร์ ผบ.กองทัพปรัสเซีย แม่ทัพเฒ่าปรัสเซียผู้เคยรบกับนโปเลียนมาเกือบ 10 ครั้ง

ที่มาภาพ – https://de.wikipedia.org/wiki/Gebhard_Leberecht_von_Bl%C3%BCcher#/media/Datei:Bl%C3%BCcher_(nach_Gebauer).jpg

https://en.wikipedia.org/wiki/File:Sir_Arthur_Wellesley,_1st_Duke_of_Wellington.png

 

นโปเลียนส่งจอมพลกรูชี่พร้อมทหารราวๆ 30,000 นายไล่ตามกองทัพบลูเชอร์ไป ซึ่งแทนที่กองทัพบลูเชอร์แทนที่จะถอยหนีกลับไปปรัสเซียทางตะวันออกแต่ดันถอยขึ้นเหนือเพื่อไปรวมกำลังกับ เวลลิงตันแทน ในขณะเดียวกันในช่วงวันที่ 17 มิถุนายน เวลลิงตันถอยขึ้นเหนือไปตั้งหลักที่ ตำบลวอเตอร์ลู ซึ่งมีเนินแซงต์ จอห์น (St.John) เป็นที่กำบัง และยังมีฟาร์มอีก 3 แห่งตั้งขวางหน้าเนินทั้งปีกซ้าย กลางแนวรบ และ ปีกขวา กองทัพเวลลิงตัน ส่วนใหญ่หลบภูมิประเทศ นโปเลียนมาถึงที่ วอเตอร์ลูพร้อมกองทัพราวๆ 73,000 นาย ในขณะที่เวลลิงตันมีราวๆ 68,000 นาย อย่างไรก็ตามตลอดวันที่ 17 ฝนตกหนัก ทำให้ตอนเช้าวันที่ 18 มิถุนายน ดินเป็นโคลนเลน ซึ่งส่งผลทำให้ลูกปืนใหญ่ยิงแล้วไม่กระดอน นโปเลียนต้องรอถึง 11:00 น. จนดินแห้งถึงจะเริ่มโจมตี

 

 

แผนที่การยุทธที่วอเตอร์ลู สีน้ำเงิน (ฝรั่งเศส) สีแดง (อังกฤษ)

ที่มาภาพ – https://waterloobattlelearn.blogspot.com/2020/05/waterloo-maps.html

 

นโปเลียนเปิดฉากโจมตีปีกซ้ายของเวลลิงตันที่ ฟาร์ม ฮูโกมองต์ (Hougoumont) เพื่อให้เวลลิงตันส่งกองหนุนจากบนเนินมาเสริม พอเนินอ่อนแอนโปเลียนจะพากำลังส่วนใหญ่รุกขึ้นเนิน แต่ฟาร์มนี้ก็เหนียวเกินคาด เนื่องด้วยมีทั้งพลไรเฟิลแม่นปืนและป่ารอบๆที่เอื้อต่อการตั้งรับทำให้ เวลลิงตันไม่ส่งกองหนุนแถมฝรั่งเศสยังเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก พอถึงช่วงเที่ยงตรง ปืนใหญ่ฝรั่งเศส 80 กระบอกเริ่มระดมยิงใส่เนิน เปิดทางให้ ทหารราบ 20,000 นาย รุกขึ้นเนิน แต่พวกเขาโดนระดมยิงจากเนินอย่างหนาแน่น แถมทหารม้าหนักอังกฤษ 2 กองพลน้อยชาร์จใส่จน ทหารฝรั่งเศสถอยลงจากเนิน ทหารม้าหนักอังกฤษชาร์จไกลเกินจนเกือบถึงแนวรบฝรั่งเศส ทำให้พวกเขาโดนทหารม้าทวน ของนโปเลียนชาร์จสวนกลับจนเสียหายหนัก รวมถึงนายพล 1 คนเสียชีวิต

 

มีบางช่วงที่นโปเลียนไม่ได้บัญชาการเพราะเขาป่วย จนถึงเวลาประมาณ 16:00 น. จอมพลเนย์ เห็นว่าฝ่ายอังกฤษกำลังถอย (ความจริงกำลังถอยเล็กน้อยเพื่อหลบแนวกระสุนปืนใหญ่ของฝรั่งเศส) เลยสั่งทหารม้าราวๆ 9,000 นาย ชาร์จขึ้นเนินใส่กองทหารกองทหารอังกฤษ เวลลิงตันเลยเลยจัตุรัสขบวนสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อป้องกันทหารม้า เมื่อไม่เป็นไปตามคาด แถมม้าที่วิ่งขึ้นเนินย่อมเสียโมเมนตัม เลยทำให้การชาร์จด้วยทหารม้าของจอมพลเนย์ล้มเหลว ในขณะเดียวกัน ทหารปรัสเซียของจอมพลบลูเชอร์เริ่มปรากฏทางปีกขวาของฝรั่งเศส ทั้งนี้ถึงแม้ จอมพลกรูชี่ กำลังจะไล่ตามบลูเชอร์อยู่แต่เขามัวรบติดพันกับกองระวังของบลูเชอร์ที่ เมือง วาล์ฟ (Warve) ส่งพลให้ บลูเชอร์และกำลังส่วนใหญ่มาช่วยเวลลิงตันได้ทันที่ วอเตอร์ลู ทั้งนี้ กองกำลังของบลูเชอร์ยังอยู่ไกล ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ทราบว่า กองกำลังที่กำลังมาถึงเป็นพวกไหน ฝรั่งเศสที่มาหนุน หรือ ปรัสเซีย

 

 

ทหารอังกฤษต่อสู้เพื่อปกป้องฟาร์มฮูโกมองต์

ที่มาภาพ – https://www.scribd.com/article/376842406/The-Battle-For-Hougoumont

 

 

 

ทหารม้าหนักอังกฤษชาร์จใส่ฝรั่งเศส

ที่มาภาพ – https://en.wikipedia.org/wiki/Scotland_Forever!#/media/File:Scotland_Forever!.jpg

 

 

 

 

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Waterloo 1970 แสดงให้เห็นขบวนสี่เหลี่ยมจัตุรัสทหารอังกฤษที่กำลังยันทหารม้าฝรั่งเศส

ที่มาภาพ – http://davethecaveman.blogspot.com/2014/04/lent-movie-reviews-week-4-waterloo.html

 

ในช่วงระหว่างที่ เนย์ นำทหารม้าเข้าชาร์จ ฝรั่งเศสได้ส่งทหารราบมายึดฟาร์ม ลา เฮ ซองต์ (La Haye Saint) ที่อยู่กลางแนวรบของเวลลิงตัน ทำให้นโปเลียนสามารถเลื่อนปืนใหญ่เข้าไปใกล้แนวรบของเวลลิงตันได้และระดมยิงใส่ฝ่ายอังกฤษอย่างหนักจนแนวรบเริ่มระส่ำระสาย ในเวลา 18:00 น. นโปเลียนเตรียมส่งกองทหารชั้นหัวกะทิอย่างทหารรักษาพระองค์รุกขึ้นเนินเพื่อปิดฉากการรบ แต่กองหนุนปรัสเซียเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆและเข้าตีปีกขวาของนโปเลียนจนเขาต้องส่งกองหนุนไปยันปรัสเซียเพิ่มแทนที่จะส่งไปเข้าตีเนินที่ทหารอังกฤษอยู่ ทหารรักษาพระองค์ของนโปเลียน 3,000 นายรุกขึ้นเนิน แต่ทหารสู้ยิบตายิงใส่ทหารฝรั่งเศสจากที่สูงกว่า จนทหารรักษาพระองค์เริ่มถอย เมื่อทหารรักษาพระองค์ถอยแถมปีกขวาโดนปรัสเซียบีบเข้ามา ทำให้กองทัพฝรั่งเศสขวัญเสียและแตกทัพ นโปเลียนพ่ายศึกในที่สุดและหนีออกจากสนามรบ

 

 

ในช่วงท้ายการยุทธปรัสเซีย (สีดำ) เริ่มเข้าโจมตีปีกขวาของฝรั่งเศสทำให้นโปเลียนต้องส่งหนุนไปยันปรัสเซีย

ที่มาภาพ – https://zyanmaps.appspot.com/#/

 

 

 

 

ทหารรักษาพระองค์ของนโปเลียนกำลังเข้าโจมตีเนินของเวลลิงตัน

ที่มาภาพ – http://davethecaveman.blogspot.com/2014/04/lent-movie-reviews-week-4-waterloo.html

 

สรุปแล้วการยุทธนี้ฝรั่งเศสเสียทหารไป 41,000 นาย พันธมิตรเสียชีวิตไปราวๆ 24,000 นาย  หลังการยุทธนี้กองทัพพันธมิตรยาตราสู่ปารีส ในขณะที่นโปเลียนขอลี้ภัยไปอังกฤษทำให้จักรวรรดิฝรั่งเศสของนโปเลียนล่มสลายในที่สุด ท้ายสุดนโปเลียนถูกส่งไปอยู่ เกาะเซนต์เฮเลน่า เกาะกลางแอตแลนติกที่โดดเดี่ยว มีทหารอังกฤษเป็นพันคอยเฝ้าไม่ให้เขาหนีไปไหน นโปเลียนเสียชีวิตในบ้านหลังเล็กๆที่ชื่อ ลองวู้ดเฮาต์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1821 เมื่ออายุ 52 ปี เป็นอันปิดฉากจอมจักรพรรดิยิ่งใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยสั่นสะเทือนดุลย์อำนาจของโลกใบนี้

 

 

 

นโปเลียน ณ เกาะเซนต์ เฮเลน่า

ที่มาภาพ – https://littleshipclub.co.uk/event/club-night-talk-napoleon-st-helena