นโปเลียนจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกเขาได้นำกองทัพอันเกรียงไกรพิชิตไปทั่วยุโรป จนหลายคนต่างคิดว่าไม่น่ามีใครหยุดเขาได้ แต่แล้วในช่วง ค.ศ.1812 เขาก็พลาดท่าที่รัสเซีย เนื่องด้วยปัญหาหลายอย่างทั้ง การขาดการส่งกำลังบำรุงที่ดีและสายการส่งกำลังบำรุงที่ยาวเกิน ภูมิประเทศของรัสเซียที่กว้างใหญ่และสามารถล่าถอยได้เรื่อยๆ และกองทัพรัสเซียเองก็ใช้ยุทธวิธีเผาและถลาง ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ฝ่ายฝรั่งเศสจะใช้ประโยชน์ได้ก่อนล่าถอย พวกเขาหลีกเลี่ยงการปะทะกับนโปเลียน และสามารถหนีจากการล้อมกรอบของกองทัพฝรั่งเศสได้ทุกครั้ง ทั้งนี้ถึงแม้ในสงครามที่ผ่านมาๆกองทัพฝรั่งเศสจะเคลื่อนทัพเร็วกว่ารัสเซียก็ตาม แต่เมื่อเจอภูมิประเทศและภูมิอากาศที่กันดารของรัสเซีย ร่วมถึงทหารของนโปเลียนมีจำนวนมากกว่า 685,000 นาย มาจากหลายเชื้อชาติยากต่อการบังคับบัญชา ทำให้กองทัพเขาช้าลงและไล่ตามรัสเซียไม่ทัน ถึงแม้ภายหลังนโปเลียนจะยึดมอสโกได้ แต่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียไม่ยอมเจรจาสงบศึก และฤดูหนาวก็กำลังมาถึง กองทัพนโปเลียนที่เสบียงเริ่มหมดตัดสินใจล่าถอย กลางฤดูหนาวและพบกับหายนะ
นโปเลียนล่าถอยจากรัสเซีย
ที่มา – https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/cc/ Napoleons_retreat_from_moscow.jpg/787px-Napoleons_retreat_from_moscow.jpg
ท้ายสุดแล้วกองทัพอันยิ่งใหญ่ของนโปเลียนกว่า 685,000 นาย เสียชีวิตไปราวๆ 370,000 นาย!! และยังมีโดนจับเป็นเชลยรวมถึง บาดเจ็บและกองทัพพันธมิตรบางประเทศก็เริ่มทรยศจนกองทัพนโปเลียนเหลือราวๆ 93,000 นายเท่านั้น เรียกว่าเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว แต่ไม่ใช่ว่าฝ่ายรัสเซียจะไม่เสียหายเลย ประมาณการทหารรัสเซียกว่า 150,000 นาย เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 300,000 นาย แต่โมเมนตัมของสงครามกำลังเบนมาถึงพวกเขา กองทัพรัสเซียไล่รุกนโปเลียนไปต่อจนสามารถยึด ดัชชี่แห่งวอซอร์ (Duchy of Warsaw) รัฐบริวารของนโปเลียนบริเวณโปแลนด์ได้ ส่วนราชอาณาจักรปรัสเซียที่ตั้งอยู่แถบๆเยอรมันในขณะนั้น ห้วงแรกพวกเขาพ่ายแพ้ต่อนโปเลียนและสถานะก็เหมือนกึ่งรัฐบริวารแต่เมื่อเห็นฝ่ายรัสเซียกำลังได้เปรียบเขาตัดสินใจกลับมาเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเพื่อต่อต้านนโปเลียน
แผนที่ยุโรปช่วงต้น ค.ศ.1813 ฝรั่งเศสและรัฐบริวารเป็นสีน้ำเงิน รัสเซียและดินแดนที่ยึดครองได้เป็นสีม่วง ปรัสเซียเลือกเข้าข้างรัสเซีย ส่วนออสเตรียยังคงเป็นกลาง
ที่มา – https://omniatlas-1598b.kxcdn.com/media/img/articles/main/europe/europe18130420.png
นโปเลียนได้ละทิ้งกองทัพเก่าที่พังทลายกลับปารีส และสั่งให้พวกเขากระจายตามป้อมปราการต่างๆเพื่อยื้อฝ่ายพันธมิตร ในขณะเดียวกันเขาก็เร่งสร้างกองทัพ ด้วยความที่ฝรั่งเศสในเวลานั้นเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 2 ของยุโรป รวมถึงมีระบบเกณฑ์ทหารที่ชัดเจนทำให้นโปเลียนสร้างกองทัพใหม่ได้ในเวลาอันสั้น เขาดึงทหารจากกองหนุนต่างๆเช่น ทหารนาวิกโยธิน กองกำลัง National Guard รวมถึง เรียกเกณฑ์ทหารล่วงหน้า และยังมีทหารจากรัฐบริวารอีกมากมายทำให้นโปเลียนสามารถตั้งกองทัพขนาด ราวๆ 400,000 นายได้ในเวลาแค่ราวๆ 3 เดือน เกือบเท่ากับกองทัพเดิม ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็น กองทัพสนามที่พร้อมทำการในสมรภูมิ แต่ปัญหาของกองทัพนโปเลียนในเวลานั้นคือ ทหารที่เกณฑ์มาใหม่หรือกองหนุนไม่ได้รับการฝึกที่มากพอ พวกเขายังเด็กหรือบางคนก็แก่เกิน และอีกปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การขาดแคลนม้า นโปเลียนสูญเสียม้าในรัสเซียไปเกือบราวๆ 170,000 ตัว
ทหารที่นโปเลียนเกณฑ์มาใหม่ในช่วง ค.ศ.1813 เป็นทหารเด็กและยังไม่ได้รับการฝึกอย่างดีรวมถึงขาดแคลนเครื่องแบบอีกด้วย
ที่มา – https://qph.cf2.quoracdn.net/main-qimg-3386f0857d48f174b4080fe249b146e8-lq
ม้าคือทุกอย่างในกองทัพก็ว่าได้ นอกจากเอาไว้ให้ทหารม้าขี่แล้ว ยังเอาไว้ลากเกวียนยุทธปัจจัย ลากปืนใหญ่ การขาดแคลนม้านี้เองทำให้กองทัพนโปเลียนมีม้าน้อยมากในช่วง เมษายน ค.ศ.1813 กองทัพนโปเลียนมีทหารม้า 27,000 นาย ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับอัตราส่วนของทหารราบ ในขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียที่ไล่รุกเข้ามาในโปแลนด์ นั้นมีจำนวนและกองหนุนพวกเขาก็ยังไม่มาถึงพวกเขายังคงเจ็บหนักจากสงครามในปี ค.ศ.1812 ทำให้ทหารของพวกเขามีราวๆ 110,000 นาย เท่านั้น ส่วนพันธมิตรอย่างปรัสเซีย ในตอนแรกพวกเขาโดนฝรั่งเศสจำกัดให้มีทหารแค่ราวๆ 42,000 นาย แต่เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะรบกับฝรั่งเศส พวกเขาได้ประกาศระดมทหารและสามารถตั้งกองทัพได้ราวๆ 65,000 นาย หากรวมกองหนุนอื่นๆแล้วพวกเขามีทหารราวๆ 135,000 นาย ทั้งนี้ แม้แต่กองทัพปรัสเซียและรัสเซียรวมกันก็ยังไม่มีจำนวนไม่เท่ากับกองทัพของนโปเลียน
ในช่วงระหว่างนี้ กองทัพพันธมิตรได้ปะทะกับกองทัพฝรั่งเศสหลายจุดทั่วเยอรมันผลปรากฏคือ กองทัพฝรั่งเศสเริ่มโดนดันให้ถอย จนกระทั่งกองทัพหลักของนโปเลียนพร้อมและเข้าสู่เยอรมัน และได้ปะทะใหญ่กับฝ่ายพันธมิตร 2 ครั้งใน ลุตเซนต์ (Lutzen) และ บัวเซนต์ (Bautzen) ในช่วงพฤษภาคม ค.ศ.1813 ถึงแม้ จะได้รับชัยชนะและสามารถผลักดันกองทัพพันธมิตรให้ล่าถอยไปยังแถบไซลีเซีย แต่กองทัพพันธมิตรยังไม่ถูกทำลายเด็ดขาดและทั้ง 2 ฝ่ายต่างสูญเสียกำลังพลไปจำนวนมาก ซึ่งนโปเลียนกับพันธมิตรตกลงกันที่จะพักรบชั่วคราว จนถึงกลางสิงหาคมเพื่อที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะฟื้นฟูกำลังใหม่ โดยคราวนี้นโปเลียนตั้งใจเสริมกำลังของตนเองโดยเฉพาะทหารม้าให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่ฝ่ายพันธมิตรนั้นมาเหนือกว่า เพราะเขาได้หว่านล้อมชาติที่เป็นกลางอย่าง สวีเดน และ ออสเตรีย ให้เข้าสู่สงครามในฝ่ายของตน โดยออสเตรียนั้นมีกองทัพสนามมากถึง 300,000 นาย ซึ่งมากพอที่จะพลิกสงครามเลยทีเดียว
นโปเลียนในการยุทธที่บัวเซนต์ ถึงแม้นโปเลียนจะได้รับชัยชนะแต่ก็สูญเสียทหารไปกว่า 20,000 นาย เขาขาดแคลนทหารม้าทำให้ไม่สามารถขยายผลแห่งชัยชนะได้
ที่มา – https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/96/Battle_of_Bautzen_ 1813_by_Bellange.jpg
ในตอนแรกเจ้าชายเมเทอนิตช์ ทูตของออสเตรียได้เดินทางมาหานโปเลียน เพื่อต้องการเจรจาโดยออสเตรียจะเป็นตัวกลางในการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย โดยแลกกับนโปเลียนต้องถอยออกจากเยอรมัน ซึ่งนโปเลียนปฏิเสธและทำให้ออสเตรียเข้าสู่สงครามทำให้ฝ่ายพันธมิตรมีทหารจำนวนมากกว่านโปเลียนและสามารถตั้งกองทัพสนามได้ถึง 4 กองทัพ!!
1.กองทัพโบฮีเมีย กองทัพที่ใหญ่ที่สุดราวๆ 200,000 – 240,000 นาย อยู่ทางใต้ของเยอรมัน
2.กองทัพไซลีเซีย ราว 75,000 – 100,000 นาย อยู่ทางตะวันออกของเยอรมัน
3.กองทัพภาคเหนือ ราวๆ 100,000 – 120,000 นาย ทางเหนือของเยอรมันใกล้ๆกับเบอร์ลินเมืองหลวงปรัสเซีย
4.กองทัพโปแลนด์ ราวๆ 60,000 นาย อยู่บริเวณโปแลนด์เป็นกองหนุน
หากดูตามแผนที่ในตอนนี้กองทัพพันธมิตรที่มีจำนวนมากกว่ากำลังรายล้อมกรอบกองทัพนโปเลียนที่อยู่ใจกลางเยอรมัน แต่นโปเลียนเองก็อยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางซึ่งสามารถโยกย้ายกำลังพลได้รวดเร็วกว่าพันธมิตร รวมถึงชื่อเสียงในการรบของนโปเลียนยังคงเป็นที่น่ากลัวในหมู่พันธมิตรยิ่งนัก เขาเป็นจอมทัพที่ยากต่อการต่อกร ซึ่งคราวนี้ฝ่ายพันธมิตรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือนโปเลียนที่ชัดเจน ซึ่งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ 3 ผู้นำของชาติพันธมิตรได้มาพบกันนั้นคือ ซาร์อเล็กซานเดอรที่ 1 แห่งรัสเซีย , ไกเซอร์ ฟรานซ์ แห่งจักรวรรดิออสเตรีย และ เฟรเดอริก วิลเฮล์มที่ 3 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย ได้มีการนัดประชุมกันที่ ทราชเชินเบิร์ก (Trachenberg) ในช่วง 9 กรกฎาคม ค.ศ.1813 เพื่อปรึกษาหารือว่าจะชนะสงครามครั้งนี้ยังไง และก็ได้ข้อตกลงง่ายๆว่า ในเมื่อนโปเลียนมันเก่งนักก็ไม่ต้องเผชิญหน้ามัน!! ถ้านโปเลียนเคลื่อนทัพมาให้ใครก็ให้ล่าถอย ในขณะที่กองทัพอื่นจะทำการรุกสู่ปีกหรือแนวหลังของนโปเลียนเพื่อก่อกวนการคมนาคมของเขา และโจมตีกองทัพแยกของจอมพลฝรั่งเศสคนอื่นๆเพื่อตัดกำลังนโปเลียน
แผนที่ทั้ง 4 กองทัพพันธมิตร (สีแดง) วางกำลังรายล้อมกองทัพนโปเลียน (สีน้ำเงิน) โดยพวกเขาพยายามโจมตีกองทัพแยกของนโปเลียนในขณะที่ หลีกการปะทะกับนโปเลียนโดยตรง
ที่มา – http://napoleonistyka.atspace.com/strategic_situation_August_1813.png
แผนเริ่มออกเป็นรูปเป็นร่างโดย เคาต์ ราเดชกี้ เสนาธิการของออสเตรีย เมื่อสงครามเริ่มต้นอีกครั้งช่วงกลางสิงหาคม ในตอนนี้พันธมิตรมีกองทัพราวๆ 500,000 เหนือกว่านโปเลียนมีแค่ราวๆ 400,000 และก็ดูเหมือนว่าแผนการปราบนโปเลียนครั้งนี้จะได้ผล เพราะกองทัพต่างๆของฝ่ายพันธมิตรเอาชนะกองทัพบรรดาจอมพลของนโปเลียนได้หลายครั้งหลายคราจนภายในเวลา 3 เดือนนโปเลียนสูญเสียทหารไปราวๆ 150,000 นาย!! และปืนใหญ่อีก 300 กระบอก เพราะบรรดาจอมพลของเขาไม่เคยชินกับการบัญชากองทัพใหญ่มาก่อน และเมื่อต้องเจอกับกองทัพพันธมิตรที่จำนวนเยอะกว่ารวมถึงได้รับการฝึกดีกว่าทหารเกณฑ์ใหม่ของฝรั่งเศส ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้แม่ทัพพันธมิตร
ถึงแม้นโปเลียนจะได้รับชัยชนะครั้งใหญ่เหนือพันธมิตรที่เมืองเดรสเดรน ทำให้ทหารพันธมิตรเสียชีวิตไปราวๆ 38,000 นาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้โมเมนตัมสงครามเปลี่ยนอย่างไร ท้ายสุดเมื่อกำลังเหลือน้อยลงเรื่อยๆ นโปเลียนล่าถอยเข้าสู่บริเวณเมือง ไลพิกซ์ (Leipzig) พร้อมกับทหารที่เหลือราวๆ 220,000 นาย ในขณะที่กองทัพพันธมิตรกระชับวงล้อมเข้ามาเรื่อยๆและปะทะใหญ่กับนโปเลียนที่เมือง ไลพิกซ์ ซึ่งจะเป็นสมรภูมิชี้ขาดสงครามในครั้งนี้ การยุทธยาวนานกว่า 4 วัน และพันธมิตรรัฐเยอรมันหลายแห่งของนโปเลียนก็เริ่มกลับข้างไปอยู่ฝ่ายพันธมิตร ทำให้ทหารของนโปเลียนน้อยลง ท้ายสุดนโปเลียนที่โดนล้อมกรอบจากทุกด้านก็ล่าถอย และพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่ไลพิกซ์ หลังการยุทธ มีทหารฝรั่งเศสถูกฆ่าและบาดเจ็บราวๆ 38,000 นาย และ ถูกจับเป็นเชลยราวๆ 30,000 นาย อีก 5,000 – 6,000 นายแปรพักตร์ ปืนใหญ่ถูกยึด 325 กระบอก ส่วนฝั่งพันธมิตรถูกฆ่าและบาดเจ็บ 54,000 นาย
นโปเลียนโดนล้อมกรอบโดยฝ่ายพันธมิตรในการยุทธที่ไลพิกซ์
ที่มา – http://napoleonistyka.atspace.com/map_of_battle_of_Leipzig_2_napoleonistyka.png
ผลของการยุทธครั้งนี้ทำให้นโปเลียนเสียอิทธิพลทั้งหมดในฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์อิทธิพลของนโปเลียนในเยอรมันหมดลงและนำมาสู่ความเสื่อมของจักรวรรดิฝรั่งเศสในที่สุด!