X

Pyrrhic Victory ชัยชนะอันสูญเปล่า

ชัยชนะหรือ Victory นั้นหมายถึงการพิชิตหรือการเอาแสดงความเหนือกว่าคู่แข่งในการแข่งขัน ในทางทหารชัยชนะย่อมทำให้เกิดผลสำเร็จหรือจุดประสงค์ที่ผู้ชนะต้องการ อาจจะทำให้สงครามจบลงโดยที่ฝ่ายชัยชนะได้ผลประโยชน์และเป็นผลของสงครามที่ฝ่ายชัยชนะต้องการ แต่ในบางครั้งชัยชนะอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น เสมอไป ชัยชนะในบางครั้งอาจจะจ่ายด้วยราคาอันมหาศาล ถ้าในทางธุรกิจอาจจะหมายถึงว่าลงทุนไปแล้วไม่คุ้มทุน มันจึงทำให้เกิดคำว่า Pyrrhic Victory หรือ ชัยชนะอันสูญเปล่า ขึ้นมา ซึ่งวันนี้ก็จะมาดูกันครับว่ามันเกิดได้อย่างไร

 

ย้อนกลับไปในยุคโบราณราวๆ 2,000 ปีก่อน ในห้วงนั้น สาธารณรัฐโรมัน เริ่มแพร่ขยายอำนาจไปทั่วคาบสมุทรอิตาลี ในขณะเดียวกันข้ามทะเลเอเดรียตริก ไปบริเวณประเทศแอลเบเนีย และกรีกตอนเหนือในปัจจุบัน มีอาณาจักรชาวกรีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า (Epirus) ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ชื่อ ไพรัส (Pyrrhus) โดย ไพรัส นั้นเป็นกษัตริย์ที่ชื่นชอบทำสงครามและขยายอิทธิพลไปทั่วให้เหมือนกับสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในช่วง ปีก่อน ค.ศ.281 ทาเรนโต้ รัฐกรีกในแถบตอนใต้ของอิตาลีได้ขอความช่วยเหลือจาก ไพรัส ให้มาหยุดยั้งโรมันที่กำลังแพร่อิทธิพล ทางไพรัส เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะแพร่อิทธิพลมาทางอิตาลี ก็เลยตกลง ช่วงก่อน ค.ศ.280 ได้ส่งกองทัพราวๆ 20,000 นาย พร้อมช้างศึก 20 เชือกมายังทางใต้อิตาลี

 

 

แผนที่ที่ตั้งอาณาจักรเอพีรุสและการเดินทัพของไพรัสช่วงสงครามในอิตาลี

ที่มา-https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/c5/Pyrrhic_ War_Italy_en.svg/1024px-Pyrrhic_War_Italy_en.svg.png

 

พวกโรมันรู้ถึงภัยคุกคามนี้เลยรีบส่งกองทัพกว่า 40,000 นาย มารบกับ ไพรัส ซึ่งกองทัพโรมันในช่วงนั้นเป็นการจัดแบบ มานิปูล่าร์ (Manipular) โดยจะแบ่งทหาร 3 แถวหลัก แถวหน้าสุดเป็นพวก ฮัสตาติ (Hastati) เป็นพวกประสบการณ์น้อยสุดใช้ดาบสั้น โล่ไม้สี่เหลี่ยม สวมแค่เกราะอกบริเวณทองเหลือง แถวที่ 2 พวก พรินซิเพส (Principes) พวกที่มีประสบการณ์กับการรบมากกว่าหน่อย อาวุธจะเหมือน ฮัสตาติ แต่สวมเกราะโซ่ถัก ที่คลุมตั้งแต่ไหล่ถึงเข่า และแถวสุดท้ายคือ ทรีอารี (Triarii) เป็นนักรบที่มีชนชั้นและประสบการณ์สูงสุด ซึ่งใช้หอกและโล่สี่เหลี่ยมเป็นอาวุธหลัก โดย 1 มานิปูล่าร์ หน่วยทำการรบเล็กสุดจะมีทหาร 120 นาย (ทรีอารี มี 60 นาย) เวลา รบทีอาจจะใช้ทหารหลาย มานิปูล่าร์ ซึ่งรวมกันเป็น 1 ลีเจี้ยน ซึ่งในการรบกับ ไพรัส นั้น โรมันและพันธมิตรที่มารบกับไพรัสมีถึง 4 ลีเจี้ยน

 

ภาพแสดงให้เห็นการจัดทัพ 3 แถวในแบบ มานิปูล่าร์ ซึ่งเวลารบกันกองทัพโรมันอาจจะมีหลาย 10 มานิปูล่าร์

ที่มา – https://i.pinimg.com/736x/6a/7b/0c/6a7b0ce501297e3cfd482d3ead8ce705.jpg

 

 

กองทัพไพรัสนั้น มีกองทัพเป็นการจัดกำลังแบบมาซิโดเนีย โดยมีทหารในขบวนรบฟาลังซ์ ซึ่งเป็นดงหอกหนาขบวนรบใหญ่กว่าของโรมันโดยมีทหารในขบวน 250 – 280 นาย กองทัพของไพรัส มีฟาลังซ์ราวๆ 20,000 นาย ที่เหลือทหารราบเบา ทหารพันธมิตรในกรีกตอนใต้ และทหารม้ารวมกำลังรบทั้งหมดทำให้มีทหารราวๆ 31,000 นาย ยังน้อยกว่าโรมันอยู่ดี แต่ฝ่ายไพรัส นั้นมีทหารม้าที่แข็งแกร่งกว่าและช้างศึกซึ่งฝ่ายโรมันไม่เคยเจอมาก่อน กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายมาปะทะกันครั้งแรกที่บริเวณ เฮราครี (Heraclea) กองทัพโรมันตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับกองทัพของไพรัส

 

 

ไพรัสและทหารในขบวนรบฟาลังซ์ของเขา

ที่มา – https://i.pinimg.com/736x/b7/78/af/b778afe57629f07cb7b198c0032a364d.jpg

 

 

ไพรัสส่งทหารราบเบา เป็นพวกพลธนู และพลสลิงเขวี้ยงหินมาก่อกวนพวกโรมัน แต่โรมันกลัวว่า กองทัพใหญ่ของไพรัสจะข้ามแม่น้ำมา เลยจัดกองทัพใหญ่เตรียมปะทะ พวกโรมันพยายามข้ามแม่น้ำมาแต่โดนตัดกำลังด้วยทหารราบเบาของไพรัสไปบางส่วน แต่ทหารม้าโรมันที่ข้ามมาได้ก็โจมตีทหารราบเบาของไพรัสจนล่าถอย แต่ระหว่างนี้กองทัพโรมันยังข้ามแม่น้ำมาไม่หมด ไพรัส ซึ่งรู้ตัวว่าโรมันข้ามแม่น้ำมาเลยนำทหารม้าชั้นหัวกะทิกว่า 3,000 นาย ชาร์จพวกทหารราบเบาที่นำหน้ามาจนแตก ในขณะที่กองทัพ ฟาลังซ์ กำลังจัดขบวน เมื่อพวก ฮัสตาติ แนวแรกของทหารราบข้ามแม่น้ำมาก็เจอเข้ากับ ฟาลังซ์ กองทัพโรมันไม่สามารถฝ่าดงหอกยาวได้รวมถึงไม่สามารถใช้ ขบวนรบที่เล็กกว่า เข้าโอบล้อมได้อย่างคล่องตัวเพราะหลังชนแม่น้ำ พวกโรมันเริ่มโดนผลักดัน

 

ฟาลังซ์แบบกรีก ปะทะ มานิปูล่าร์แบบโรมัน

ที่มา – https://miro.medium.com/max/1400/1*P-Ia_TgoKDGOQUYH3Yy6Cg.png

 

แต่สถานการณ์พลิกอีกครั้งเมื่อมีข่าวลือว่า ไพรัส เสียชีวิต เพราะพวกโรมันยึดเกราะกับหมวกเหล็กของเขาได้ (แต่ในความจริงไพรัสนั้นร่วงตกจากหลังม้าและสามารถหนีเอาตัวรอดไปได้) ทำให้ทหารไพรัสเริ่มหมดกำลังใจ และแนวเริ่มแตก แต่ไพรัสรีบควบม้าไปทั่วแนวทหารบอกเขายังไม่ตาย ในจังหวะเดียวกันเขาก็ส่งช้าง 20 เชือกเขาทำการรบ และโจมตีปีกพวกโรมัน พวกโรมันตกใจกับสัตว์ประหลาดของไพรัส และสามารถเจาะแนวฟาลังซ์ ได้ในที่สุดทัพโรมันก็แตก จบการยุทธทหารโรมันถูกสังหารไปราวๆ 7,000 นาย และจับเป็นเชลย 2,000 นาย นักประวัติศาสตร์กรีกบางคนบอกว่าสูญเสียถึง 15,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายไพรัสสูญเสียไปราวๆ 4,000 นาย

 

ไพรัสนำช้างเข้าสู่สนามรบ

ที่มา – https://static.wikia.nocookie.net/totalwar-ar/images/1/1c/Battle_of_Heraclea.jpg/revision /latest?cb= 20200401204438

 

หลังชัยชนะนี้ ไพรัส ยื่นสาส์นไปข้อสงบศึกกับโรมัน แต่โรมันปฏิเสธ สงครามเลยยังยืดเยื้อต่อกลายเป็น สงครามไพรัส (Pyrrhic War) แต่ทั้งนี้ สาธารณรัฐโรมัน สามารถเกณฑ์ทหารใหม่มาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว แต่ไพรัสทำไม่ได้ เพียงได้แต่หากองกำลังพันธมิตรที่อาจจะไม่ได้มีศักยภาพเท่าทหารเก่า ไพรัส นำกองทัพปล้นสะดมไปเรื่อยๆโดยพยายามก่อกวนพวกโรมันและหลีกเลี่ยงการปะทะพวกโรมัน และรอนราญกำลังโรมัน ในขณะที่โรมันเริ่มตั้งกองทัพใหม่ได้ก็หวังจะรบแตกหักกับไพรัส ในช่วง ก่อน ค.ศ.279 กองทัพใหญ่ของทั้ง 2 มาปะทะกันอีกครั้งที่ บริเวณเมือง แอสคูลัม (Asculum) โดยคุมกองทัพราวๆ 4 ลีเจี้ยน หรือ 40,000 และทหารม้าอีก 5,000 นาย พวกโรมันได้รับบทเรียนจากช้างครั้งก่อน เลยสร้างเกวียนต่อต้านช้างกว่า 300 เล่ม เกวียนที่มีไม้แหลมจุดไฟยื่นมาด้านหน้า และมีพลธนู หรือ พลยิงหินอยู่ด้านใน

 

เกวียนต่อต้านช้างของโรมัน

ที่มา – https://i.pinimg.com/originals/ff/23/47/ff2347b20565d43dacf9035bfc44e246.png

 

กองทัพไพรัสในเวลานั้นมีขนาดใกล้กันคือราวๆ 40,000 นาย ทหารม้า 5,000 พัน และช้าง 19 เชือก โดยทหารที่มีประสบการณ์อยู่ทางปีกขวาสุด การรบในครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายดูสูสีกัน โดยทหารราบโรมันและไพรัสยื้อยุทธกันตรงกลาง ทหารม้าของไพรัสดูจะเหมือนกว่าของโรมันและผลักดันพวกเขาถอยไปได้ ในระหว่างนี้เอง ไพรัส ได้ส่งช้างไปหวังจะตีปีกกองทัพโรมัน แต่พวกโรมันเอาเกวียนดักช้างมาถ่วงเวลา แต่ทหารราบเบาของไพรัสที่ตามหลังช้างไปด้วยก็ช่วยสังหารทหารโรมันบนเกวียน แต่ไปมาๆการรบของทหารราบ ตรงกลางแนวรบด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขาทำให้ ฟาลังซ์ ค่อนข้างเสียเปรียบและทหารบริเวณนั้นเป็นพันธมิตรที่ไม่ใช่ ทหารมากประสบการณ์ พวกเขาโดนกองทัพโรมันตีแตก และแนวตรงกลางโดนทะลวง ไพรัส พร้อมกับองครักษ์ 2,000 ชาร์จเข้าแนวตรงกลาง เพื่อแก้สถานการณ์ แต่ในระหว่างที่กำลังรบกันไปกันมา พวกโรมันได้ส่งหน่วยขนาดเล็กไปเผาค่ายไพรัสที่หลังแนว!! กองทัพไพรัส ที่สูญเสียหนักเริ่มเสียกำลังใจและแนวแตก แต่ระหว่างที่ กำลังจะแตก ช้างศึกและของไพรัส ก็มาตีปีกกองทัพโรมันพอดี ส่งผลให้แนวของโรมันระส่ำระสายและล่าถอย

 

 

กองทัพโรมันปะทะช้างของไพรัส

ที่มา – https://i.pinimg.com/originals/52/c6/91/52c691d00be8e665b57662577dd59ca8.jpg

กองทัพไพรัสสูญเสียไปการยุทธนี้ราวๆ 3,500 นาย ส่วนโรมันนั้นราวๆ 6,000 นาย ถึงแม้ว่าจะสูญเสียน้อยกว่า แต่ทุกนายที่สูญเสียไปนั้นล้วนแต่เป็นทหารที่มีประสบการณ์และทดแทนยาก จนไพรัส นั้นคิดว่าเขาไม่น่าทำสงครามได้อีกต่อไปจนกล่าววลีว่า “อีกแค่ 1 ชัยชนะเหนือพวกโรมัน เราต้องพินาศอย่างแน่นอน!!” นี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ชนะได้กล่าวเช่นนี้ ดังนั้น วลี ชัยชนะแบบไพรัส หรือ Pyrrhic Victory หลังจบศึกนี้ ไพรัส เริ่มหันเหความสนใจเป็นช่วยเหลือรัฐกรีกที่ทำสงครามกับพวกคาร์เธจบนเกาะซิซิลี แต่ก็ล้มเหลวอีก ไพรัสกลับมาทำสงครามกับโรมันแต่ได้รับความพ่ายแพ้ในช่วง ก่อน ค.ศ.275 ทำให้เขาออกจากคาบสมุทรอิตาลีและไม่กลับมาอีก เขามาทำสงครามในอิตาลีและสามารถรบชนะพวกโรมันได้ 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย ชัยชนะอันสูญเปล่านี้ ยังเกิดอีกหลายครั้งในสงครามใหญ่ๆตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ชนะมักต้องโถมกำลังจำนวนมาก ทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเพื่อชนะการยุทธหรือสงครามดังกล่าว และก็พบว่าที่ตนเองต้องสูญเสียไปนั้นไม่คุ้มค่าเลย แน่นอนว่าการทำสงครามใดๆล้วนคือการลงทุน แต่มันคือการลงทุนด้วยชีวิตคนและผลประโยชน์ของรัฐ ดังนั้นจะดีที่สุดในยุคนี้ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นมาดีกว่าครับ

 

 

คำกล่าวของ ไพรัส “อีก 1 ชัยชนะเราจักพินาศ”

ที่มา – https://i.imgur.com/6a5RRuB.jpg