X

Levée en masse ต้นกำเนิดการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่

การเกณฑ์ทหารในไทยนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนที่ไปรับใช้ชาติโดย โดยชายไทยอายุ 18 ปีมีหมายเรียกไปเกณฑ์ทหาร และ 21 ปีจะถูกเรียกไปจับใบดำใบแดงเพื่อไปเป็นทหาร และเมื่อรับราชการครบตามวาระก็จะถูกปลดมาเป็นทหารกองหนุน แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมชายทุกคนต้องเป็นทหาร มันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ บทความในวันนี้มีคำตอบ

 

การเกณฑ์ทหารในไทย

ที่มา – https://www.khaosod.co.th/wpapp/uploads/2020/05/ %E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0 %B8%99%E0%B9%80% E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B 8%91%E0%B9%8C%E0%B8%97% E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3.jpg

 

ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงนั้นกองทัพประจำการเริ่มถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งเป็นกองทัพที่อยู่ถาวร และพร้อมเคลื่อนทัพหรือพร้อมทำสงครามตลอดเวลา ไม่เหมือนกองทัพสมัยก่อนที่ถูกตั้งมาชั่วคราวแล้วยุบทิ้งเมื่อสงครามจบ ซึ่งแน่นอนว่า กองทัพประจำการย่อมต้องใช้ทั้งคนและงบประมาณมาก ในตอนแรกชาติส่วนใหญ่ในยุโรปใช้วิธีเกณฑ์เอาโดย ในแต่ละท้องที่ก็จะมีข้าราชการ หรือ นายทหาร เรียกเกณฑ์ทหารให้ได้ตามโควตา ที่รัฐกำหนดมาให้ เช่น กรมทหารราบแห่งรูซิยอง ต้องการทหาร 1,000 นาย นายทหารที่คุมก็ต้องไปหามาให้ครบด้วยวิธีใดก็ได้สุดแล้วแต่ ซึ่งการเกณฑ์ทหารในยุคนั้นยังไม่ได้มีกฎหมายมาบัญญัติชัดเจนว่า ชายทุกคนต้องเป็นทหาร หรืออย่างในอังกฤษซึ่งไม่มีการเกณฑ์ทหารแต่ใช้อาสาสมัครเอา

 

พอมาถึงช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เหล่าชนชั้นสูงพากันลี้ภัยการเมืองออกนอกฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ไม่ลี้ภัยก็โดนประหาร และกองทัพฝรั่งเศสในห้วงนั้นมีเหล่าชนชั้นสูงเป็นนายทหาร!! ผลที่ตามมาคือกองทัพฝรั่งเศสขาดแคลนนายทหารและทหารเป็นจำนวนมาก จำนวนกองทัพฝรั่งใน ค.ศ.1791 ตกลงเหลือ 110,000 นาย นายทหารกว่า 6,000 นาย ลี้ภัยออกนอกประเทศ กองทัพฝรั่งเศสถูกเปลี่ยนจากกองทัพหลวงกลายเป็น กองทัพแห่งรัฐ สำหรับนายทหารที่หนีไปนั้น สมัชชาแห่งชาติ รัฐบาลฝรั่งเศสในตอนนั้นได้เลื่อนยศเหล่าทหารชั้นประทวนมาแทนที่นายทหารอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่นายทหารในห้วงนั้นจะเลื่อนยศกันไวมาก ส่วนพลทหารนั้นในช่วงแรก รัฐบาลไม่รู้จะทำไงเลยใช้วิธีอาสาสมัครเอา ซึ่งก็ได้คนมาสมัครน้อยมาก และถึงแม้จะบอกว่าให้รบครั้งเดียวและปลดก็ตาม แต่ในห้วงเวลานั้น ชาติรอบฝรั่งเศสที่ระแวงว่าการปฏิวัติกำลังจะมาถึงตัวเอง ก็จ้องจะประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อนนำกษัตริย์ฝรั่งเศสกลับมา

 

กองทัพฝรั่งเศสในช่วงสงครามปฏิวัติ ซึ่งสภาพโดยรวมนั้นไม่มีระเบียบวินัย และขาดยุทธปัจจัยต่างๆ

ที่มา – https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/47/Bataille_Jemmapes.jpg

 

 

สมัชชาแห่งชาติต้องการทหารจำนวนมากมารับมือกับกองทัพพันธมิตรที่พร้อมรุกรานและแน่นอนว่า อาสาสมัครมันไม่พอ!! ในช่วงแรกสมัชชาแห่งชาติ ใช้วิธีจับพวกทหารเก่าไปอยู่คละกับทหารอาสาที่มาใหม่ เพื่อให้เหล่าทหารเก่าสอนทหารใหม่ให้รบเป็นได้อย่างรวดเร็ว แต่รบไปรบมาพบว่าทหารอาสาขวัญกำลังใจต่ำมาก และร้องจะกลับบ้านเอาบ่อยๆ ในช่วงเริ่มสงคราม ค.ศ.1793 กองทัพหนึ่งของฝรั่งเศสเสียทหาร 10,000 นายจากการรบแต่เสีย 25,000 นายจากการหนีทัพ!! ในกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน สมัชชาแห่งชาติ ประกาศออกมาว่า “ผู้ชายทุกคนที่อายุ 18 – 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยังไม่มีลูก ภรรยา จะต้องมีพันธะในการเป็นทหารกับรัฐ!!” และได้เรียกคนเกณฑ์นี้มาเป็นทหารถึง 300,000 นายในปีนั้นเพื่อชดเชยความสูญเสีย ยิ่งเสียมากขึ้น ฝรั่งเศสยิ่งเกณฑ์ทหารมาก จนในสิงหาคมปีเดียวกัน สมัชชาแห่งชาติก็ได้ออกประกาศที่เรียกว่า “Levée en masse” ขึ้นมา โดยมีด้วยกัน 7 ข้อดังนี้

 

 

การเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส

ที่มา – https://publishistory.files.wordpress.com/2013/10/levee-en-masse-conscription.jpg

 

 

1.ตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไปจนกว่าจะขับไล่ข้าศึกออกจากปิตุภูมิได้ ชาวฝรั่งเศสทุกคนต้องพร้อมรับราชการทหาร ชายหนุ่มต้องเป็นทหาร ชายที่แต่งงานแล้วต้องสนับสนุนการรบเช่นทำฟาร์มและขนเสบียง ผู้หญิงต้องทอเสื้อผ้าและเป็นพยาบาล เด็กๆต้องช่วยกันทำความสะอาด คนแก่ต้องไปปลุกระดมหนุ่มๆให้กล้าหาญ ประกาศความเกลียดชังต่อกษัตริย์และความรักในสาธารณรัฐ

  1. สิ่งปลูกสร้างต่างๆต้องถูกเปลี่ยนเป็นโรงนอนทหาร โรงงานกลายเป็นโรงงานผลิตอาวุธ ดินในห้องใต้ดินถูกนำมาล้างทำดินประสิว
  2. อาวุธปืนลำกล้องยาวถูกสงวนไว้สำหรับทหารและผู้ร่วมสู้รบ
  3. อานม้าทุกอันถูกส่งไปกรมทหารม้า นอกจากม้าที่ทำเกษตรแล้ว ม้าต้องถูกนำมาลากปืนใหญ่และเกวียนขนยุทธปัจจัย
  4. รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพยากรทุกอย่างทุ่มเทต่อสงครามอย่างไม่รอช้า มีสิทธิ์ควบคุมเหนือโรงงาน โรงสี หรือ สถานที่ต่างๆ ตลอดจนยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือต่อทุกคนในสาธารณรัฐ
  5. ผู้แทนจะถูกส่งออกไปเพื่อบังคับใช้กฎหมาย พวกมีอำนาจในเขตของตนและถืออำนาจเต็มของรัฐบาล
  6. ไม่มีการหลบเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมาย

 

จาก 7 ข้อที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นเลยว่ารัฐบาลฝรั่งเศสได้ยกระดับสงครามที่เกิดขึ้นนี้เป็นสงครามของประชาชน ไม่ใช่สงครามระหว่างผู้นำรัฐอีกต่อไป ประชาชนทุกคนถูกดึงมาร่วมสงคราม และมีพันธะต่อรัฐไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าว รวมถึงยังมีการส่งผู้แทนของรัฐบาลไปตรวจดูท้องที่ต่างๆอย่างเข้มงวดทำให้ การบังคับใช้ “Levée en masse” เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ในกลางปีเดียวกันฝรั่งเศสระดมทหารได้มากถึง 450,000 นาย มากกว่ากองทัพใดในยุโรป และในปีต่อมาก็เพิ่มเป็น 800,000 นาย!! ถึงแม้ทหารจำนวนมากเหล่านี้จะไม่ได้มีประสบการณ์รบมาก แต่ด้วยหลักการรบใหม่ของบรรดานายพลฝรั่งเศสที่เริ่มคิดทำสงครามนอกกรอบจากเดิม รวมถึงการเกณฑ์ทหารระบบใหม่ที่หาทหารมาเติมได้ตลอด ทำให้กองทัพฝรั่งเศสมีชัยเหนือเจ้ายุโรปอื่นและกลายเป็นกองทัพอันแข็งแกร่งในเวลาอันสั้น

 

กองทัพฝรั่งเศสเอาชนะข้าศึกได้หลายครั้งและกลายเป็น 1 ในกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป

ที่มา – https://cdn.britannica.com/48/196548-050-48577AB3/Battle-of-Fleurus-phase-First-Coalition-French.jpg

 

ในช่วง ค.ศ.1798 ได้มีการออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายจูดังร์ (Jourdan Law) ว่าด้วย ชายฝรั่งเศสทุกนายมีหน้าที่เป็นทหารเมื่อชาติมีภัย เพื่อเป็นการยืนยันประกาศ  “Levée en masse” และยังมีการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย โดยได้ระบุชาย 20 – 25 ปี มีพันธะทางทหารกับรัฐเว้นแต่นักบวชหรือคนงานที่ทำงานเพื่อการสนับสนุนสงคราม ทหารเกณฑ์จะถูกแบ่งเป็น Class ตามปีที่เกณฑ์ เช่น อายุ 20 ในปี ค.ศ.1799 ก็จะเป็นทหารเกณฑ์ Class ปี 1799 เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารถูกใช้เรื่อยมาจนถึงสงครามนโปเลียน มาถึงจุดนี้หลายชาติในยุโรปก็เริ่มทำตามฝรั่งเศส และแน่นอนว่าอิทธิพลการเกณฑ์ทหารก็ลามมาถึงไทย ที่ต้องการสร้างกองทัพประจำการเพื่อความเป็นปึกแผ่นของรัฐให้ทัดเทียมตะวันตก อย่างไรก็ตามประเทศต้นตำรับเกณฑ์ทหารอย่างฝรั่งเศสในปัจจุบันนั้นได้ยกเลิกการเกณฑ์ไปแล้ว ส่วนไทยนั้นก็ยังหาทราบได้ว่าจะเลิกเกณฑ์ทหารเมื่อใด