X

Attrition Warfare สงครามแบบล้างผลาญ

การทำสงครามนั้นมีหลายรูปแบบมันวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตามพลวัตของโลกมนุษย์ที่ดำเนินไปไม่ว่าจะทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา ทุกอย่างเสมือนฟันเฟืองที่อยู่ในกลไกเดียวกันเมื่อเฟืองไหนขยับเฟืองอื่นๆต้องหมุนตาม เสมือนกับการทำสงครามของมนุษย์ที่นับวันยิ่งพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งในบทความนี้จะทำให้ท่านรู้จักกับ Attrition Warfare สงครามแบบล้างผลาญ

 

ทั้งนี้ต้องมาทำความรู้จักก่อนคำว่า สงครามแบบล้างผลาญ คืออะไร มันคือ สงครามที่เน้นการหน่วงเวลารบเป็นเวลานาน ๆ ยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ โดยทำให้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถจะหักเอาชัยชนะขั้นเด็ดขาดได้ ฝ่ายมีชัยคือฝ่ายที่สามารถบังคับให้คู่ต่อสู้ยกเลิกปฏิบัติการทหารของตนเพราะความสูญเสียดังกล่าว สงครามแบบนี้เป็นสงครามที่มีมาอย่างยาวนานเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคโบราณและถือเป็นรูปแบบที่นักการทหารหลายคนนิยมใช้ แต่อาจจะมีคำศัพท์เรียกที่ต่างกันออกไป แต่สำหรับคำว่า Attrition Warfare พึ่งมาถูกบัญญัติเป็นศัพท์อย่างทางการในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 1

 

โดยมันเกิดขึ้นในแนวรบด้านตะวันตกและแนวรบในอิตาลี ที่ทหารทั้ง 2 ฝ่ายมักจะเจอสถานการณ์แบบซ้ำๆเดิมๆ คือต่างฝ่ายต่างพยายามโถมกำลังกันอย่างสุดความสามารถเพื่อเข้ายึดพื้นที่และแนวสนามเพลาะของฝ่ายตรงข้าม เนื่องด้วยอาวุธที่พัฒนาขึ้น เช่นปืนกล ปืนใหญ่ที่ยิงได้รวดเร็ว ทำให้อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 ฝ่ายเท่าทวีคูณยิ่งกว่าสงครามไหนๆ และทั้ง 2 ฝ่ายต่างขุดแนวสนามเพลาะป้องกันยาวกว่าหลาย 100 กิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกมาโจมตีปีกตัวเองส่งผลให้ เกิดเป็นสงครามสนามเพลาะ อาวุธในห้วงนั้นก็ไม่ได้ช่วยทำให้ทหารทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจาะแนวสนามเพลาะฝ่ายตรงข้ามได้ ซึ่งแม่ทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยคิดว่า สงครามแบบล้างผลาญ คือทางออก การที่ทำให้อีกฝ่ายรบและสูญเสียไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้พวกเขามีทรัพยากรน้อยลง และขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ นำมาสู่ความพ่ายแพ้เอง

 

สงครามสนามเพลาะที่ยืดเยื้อยาวนานและทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเสียทรัพยากรไปจำนวนมาก

ที่มา -https://world101.cfr.org/sites/default/files/styles/fluid_1200/public/images/photo /2021/03/1900-to-1945_leadup-to-wwi_supporting_intro_760x380.jpg.webp?itok=s9RevJIv

 

จริงอยู่ที่สงครามโลกครั้งที่ 1 อาจจะเป็นจุดกำเนิดของคำว่า “Attrition Warfare” เช่นในซีกโลกตะวันออกทางจีน ซุนวู ก็เคยเขียนแนวทางในการทำสงครามแบบล้างผลาญเช่นกัน และการทำสงครามในจีนส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแบบนั้น หรืออย่างยุคสงครามพิวนิก ระหว่างโรมันและคาร์เธจ ซึ่งทั้ง 2 รัฐต่างต้องการแย่งชิงความเป็น 1 ใน เมดิเตอร์เรเนียน แม่ทัพคาร์เธจ ชื่อ ฮันนิบาล บาคาร์ (Hannibal Barca) ได้ยกทัพข้ามเทือกเขาแอลป์มา สร้างความประหลาดใจให้พวกโรมัน และยังรบชนะโรมันในการยุทธหลายครั้งจนกระทั่ง จอมเผด็จการแห่งโรมัน ควินตุส ฟาเบียส แม็กซิมุส (Quintus Fabius Maximus) ได้ใช้วิธีที่เรียกว่า หลบเลี่ยงการปะทะ ฟาเบียส ได้เลี่ยงการปะทะใหญ่กับฮันนิบาล ในขณะเดียวกันก็เผาไร่ เผาทรัพยากรรอบๆ ไม่ให้ฮันนิบาลได้ใช้ ทำให้กองทัพฮันนิบาลหรอยหร่อ ลงเรื่อยๆ

 

 

ควินตุส ฟาเบียส แม็กซิมุส

ที่มา – https://i0.wp.com/militaryhistorynow.com/wp-content/uploads/2020/01/1600px-N26_Fabius_Cunctator_Sch%C3%B6nbrunn_04.jpg?fit=700%2C464&ssl=1

 

 

แต่กลยุทธนี้ก็ดูจะไม่ถูกใจชาวโรมันหลายคนที่ต้องการรบแตกหัก ซึ่งพวกเขาพ่ายแพ้ฮันนิบาลอีกรอบในการยุทธที่ คาเนเอ (Battle of Canne) ส่งผลให้ชาวโรมันหันกลับมาใช้ กลยุทธของฟาเบียส อีกรอบ และคราวนี้ก็ได้ผล ซึ่งถึงใช้เวลานานแต่ กองทัพโรมัน ทุกกองทัพหลีกเลี่ยงการปะทะกับฮันนิบาล ในขณะที่กองทัพอื่นๆถูกส่งไปที่ แนวหลังของฮันนิบาล เช่นในสเปน หรือ ในแอฟริกา เพื่อทำให้กองทัพฮันนิบาลขาดแคลนยิ่งขึ้นเรื่อยๆท้ายสุดฮันนิบาลก็ต้องถอยทัพกลับแอฟริกา หลังจากวิธีของฟาเบียสได้ผล เลยมีการตั้งชื่อกลยุทธ์ของฟาเบียสว่า ยุทธศาสตร์ฟาเบียน (Fabian strategy)

 

ทั้งนี้ส่วนมากคนที่ใช้ยุทธศาสตร์แบบฟาเบียน หรือ สงครามแบบล้างผลาญ นั้นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นฝ่ายที่มีกำลังเป็นรองมากกว่าข้าศึก และรู้ว่าหากปะทะตรงๆจะต้องพ่ายแพ้แน่ๆ ดังนั้นการล่าถอยหรือหลีกการปะทะและให้ธรรมชาติหรือความขาดแคลน รอนราญกำลังพลของข้าศึกไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเกิดจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาทางเอาชนะอย่างเด็ดขาดแบบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยต้องใช้ การล้างผลาญกำลังและทรัพยากรของอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรงสู้ การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น กองทัพภาคพื้นทวีปของ จอร์จ วอชิงตัน ในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกา (America Revolutionary War) ที่พยายามหลบเลี่ยงการปะทะกับกองทัพอังกฤษในช่วง ค.ศ.1776 – 1777 หรืออย่างล่าสุดในปัจจุบัน ในสงครามรัสเซีย – ยูเครน ค.ศ. 2022

 

การล่าถอยของวอชิงตัน

ที่มา -https://www.history.com/.image/ar_4:3%2Cc_fill%2Ccs_srgb%2Cfl_progressive% 2Cq_auto:good%2Cw_1200/MTYwNzAxMDM2OTc2MTUzNjU1/valley-forge-christmas-115284879-promo.jpg

 

จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกรัสเซียพยายามจะทำสงครามแบบสายฟ้าแลบรุกรานยูเครนจากหลายทิศทาง และเข้ายึดกรุงเคียฟ โดยพวกเขากะจะปิดเกมให้ได้ในเวลาอันสั้น แต่เหตุการณ์ดันไม่เป็นแบบนั้น เช่นสายการส่งกำลังบำรุงของรัสเซียที่มีปัญหาจนไม่สามารถหนุนเนื่องการรบขนาดใหญ่ได้ ทหารชุดแรกที่มาเข้าตีเป็นทหารใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์รบ รวมถึงฝ่ายยูเครนที่ฮึดสู้อย่างน่าเหลือเชื่อและมีอาวุธจากพันธมิตร NATO มาสนับสนุนอย่างไม่ขาดสาย คราวนี้รัสเซียเลยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่โดยโถมกำลังทางด้านตะวันออกแทน และเน้นการยิงปืนใหญ่ปูพรม ค่อยๆยึดไปละทีละพื้นที่อย่างช้าๆ รอนราญ กำลังฝ่ายยูเครนไปเรื่อยๆ ในขณะที่ยูเครนก็พยายามสู้แบบสงครามกองโจร พยายามลิดรอนกำลังพลรัสเซียไปเรื่อยๆเพื่อทำลายขวัญกำลังใจ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างหวังว่าสงครามจะจบลงในทิศทางที่ตนเองได้เปรียบในโต๊ะเจรจา

 

 

สงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ

ที่มา – https://img.republicworld.com/republic-prod/stories/promolarge/xhdpi/wuoqvk1diuheyyg3_1654130595.jpeg

 

เห็นได้ว่าการทำสงครามแบบล้างผลาญ นั้นมีมานานแล้วและในปัจจุบันก็ยังถูกใช้อยู่เพียงแต่บริบทต่างๆของรอบตัวมันเปลี่ยนไปตามสภาพของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป